คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 80/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยกกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดให้แก่กัน แม้จะไม่ได้จดทะเบียนการโอนก็ตาม. แต่ถ้าผู้รับให้ได้เข้าครอบครองถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยความสงบและเปิดเผยตลอดมาเมื่อผู้รับให้ถึงแก่กรรม บุตรของผู้รับให้ได้สืบสิทธิครอบครองต่อมาติดต่อรวมกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว บุตรของผู้รับให้ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายจั่นนางแอ๊ว นิ่มหนู ระหว่างที่นายจ่าง รัตนกร ตาของโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 460 ต่อมานายจ่างได้ยกกรรมสิทธิ์ตามโฉนดดังกล่าวให้แก่นางตลับ 1 ส่วน จำเลย 1 ส่วน เหลือไว้เป็นของตน 1 ส่วน และได้ขอให้จำเลยรับโอนที่ดินที่เหลือใส่ชื่อจำเลยไว้แทน ต่อมานายจ่างทำหนังสือมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของตนซึ่งจำเลยรับโอนไว้แทนนั้นให้แก่นางแอ๊วมารดาของโจทก์ มารดาโจทก์และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำนาด้วยความสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นระยะเวลา16 ปีเศษ จำเลยผัดการโอนแก้ชื่อในโฉนดเรื่อยมา ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์

จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 460 เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจ่าง นายจ่างได้ยกกรรมสิทธิ์ให้แก่นางตลับ 1 ส่วน ทางทิศเหนือจำเลยได้ตอนกลาง ส่วนที่เหลือทางทิศใต้เป็นของนายจ่าง ต่อมานายจ่างยกที่ดินส่วนนี้ให้จำเลย จำเลยไม่ได้รับโอนไว้แทน หนังสือมอบกรรมสิทธิ์ให้นางแอ็วมารดาโจทก์นั้นได้ทำปลอมขึ้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทในโฉนดที่ดินเลขที่ 460 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 460 เดิมเป็นของนายจ่าง ต่อมานายจ่างโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดนี้ให้นางตลับน้องมารดาโจทก์ 1 ส่วน ให้จำเลย 1 ส่วน และเหลือไว้สำหรับนายจ่าง 1 ส่วน นายจ่างโอนที่ดินส่วนที่เป็นของนายจ่างทั้งหมดให้จำเลย โดยใส่ชื่อจำเลยในโฉนดแทนนายจ่าง แล้วต่อมานายจ่างยกกรรมสิทธิ์ที่พิพาทที่มีชื่อจำเลยในโฉนดแทนนายจ่างนั้นให้มารดาโจทก์ นางแอ๊วมารดาโจทก์และโจทก์ครอบครองทำนาในที่พิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ตลอดมาถึง พ.ศ. 2513 และวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะมีชื่อในโฉนดเป็นผู้รับโอน ก็เป็นการมีชื่อแทนนายจ่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง เมื่อนายจ่างยกกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้มารดาโจทก์ แม้จะมิได้จดทะเบียนการโอนในโฉนดก็ตาม แต่มารดาโจทก์ได้เข้าครอบครองถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยความสงบและเปิดเผยตลอดมา เมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ได้สืบสิทธิครอบครองต่อมาติดต่อรวมกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

พิพากษายืน

Share