คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6130/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทและตั๋วสัญญาใช้เงินตามูลหนี้ที่โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและชำระเงินค่าเครื่องจักรแทนจำเลยที่1จำเลยที่1ได้ร่วมกับจำเลยที่2และที่3ปลอมเอกสารดวงตราของโจทก์นำไปจดทะเบียนว่าเครื่องจักรดังกล่าวเป็นของจำเลยที่2แล้วนำไปจำนองไว้แก่จำเลยที่4ขอให้บังคับจำเลยที่2ถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และการจำนองเครื่องจักรแล้วให้จำเลยที่1ถึงที่3คืนเครื่องจักรแก่โจทก์หรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคาพร้อมทั้งชำระค่าเสียหายการที่จำเลยที่2ฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ทำละเมิดกลั่นแกล้งนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่3กรรมการของจำเลยที่2ทำให้จำเลยที่2ต้องเสียหายโดยนำเงินไปประกันตัวจำเลยที่3และขาดผลประโยชน์จากทางทำมาหาได้ เสื่อมเสียชื่อเสียงขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมชอบที่จำเลยที่2จะต้องไปฟ้องเป็นคดีต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์ มีจำเลยที่ 3เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทน จำเลยที่ 1 ขอรับสินเชื่อจากโจทก์ประเภทต่าง ๆ รวมกันในวงเงิน 105,000,000 บาทเมื่อเดือนเมษายน 2532 จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์สาขาในประเทศไทย ให้เป็นผู้สั่งซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำมะเขือเทศไปยังผู้ขายคือบริษัทลอตซีแอนด์คาเทลลี่ เอส.พี.เอ.ในประเทศอิตาลีแทนจำเลยที่ 1 โดยผ่านธนาคารบังกา โปโปแลร์ ได วีโรนา การขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนี้จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ได้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ต้องทำทรัสต์รีซีทให้ไว้แก่โจทก์เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้รับเอกสารการส่งสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์ไปรับเครื่องจักรออกจากท่าเรือกรุงเทพ และจำเลยที่ 1จะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ไว้ด้วย เมื่อวันที่ 8พฤษภาคม 2532 โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามคำขอของจำเลยที่ 1โดยแจ้งคำสั่งซื้อไปยังธนาคารบังกา โปโปแลร์ ได วีโรนาในประเทศอิตาลี ให้ซื้อเครื่องจักรดังกล่าวจากบริษัทลอตซีแอนด์คาเทลลี่ เอส.พี.เอ. ในประเทศอิตาลีตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ ดี.พี.ซี.บี.เค.เอช 892280301 ต่อมาครบกำหนดที่จะต้องชำระราคาสินค้า โจทก์ได้จัดการชำระราคาสินค้าตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตจนครบถ้วนเป็นเงินจำนวน 58,463,275 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเครื่องจักรให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงได้ทำทรัสต์รีซีทให้แก่โจทก์ไว้ 3 ฉบับซึ่งสาระสำคัญของทรัสต์รีซีททั้ง 3 ฉบับ คือโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องจักรตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยที่ 1 จะนำเครื่องจักรออกจากท่าเรือไปเก็บรักษาและยึดถือไว้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะจำหน่ายเพื่อนำเงินค่าเครื่องจักรมาคืนแก่โจทก์เท่านั้น ห้ามจำเลยที่ 1 นำเครื่องจักรไปใช้เป็นประกันเช่นจำนอง และจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับชำระราคาค่าเครื่องจักรให้แก่โจทก์ โจทก์ได้มอบเอกสารการส่งสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อเครื่องจักรให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปรับเครื่องจักรออกจากท่าเรือกรุงเทพต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้นำเอกสารแสดงการส่งสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตไปรับเครื่องจักรจากท่าเรือ แต่ปรากฏว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันแจ้งและเสนอเอกสารอันเป็นเท็จระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อเครื่องจักรดังกล่าวไปแสดงต่อกรมศุลกากรว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อ เป็นเหตุให้กรมศุลกากรยินยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเครื่องจักรออกจากท่าเรือกรุงเทพ แล้วนำไปติดตั้งที่โรงงานของจำเลยที่ 2ที่ตำบลพรานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรตลอดมาเมื่อเดือนตุลาคม 2533 จำเลยที่ 2 โดยความรู้เห็นของจำเลยที่ 1และที่ 3 ได้นำเครื่องจักรไปจดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2ต่ำสำนักงานเครื่องจักรกลาง กระทรวงอุตสาหกรรม แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 เพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 2มีอยู่กับจำเลยที่ 4 เป็นเงินจำนวน 101,580,000 บาท อันเป็นการฉ้อโกงและยักยอกเครื่องจักรของโจทก์ จำเลยที่ 4 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจำนองเครื่องจักรดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของ โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อหาฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ นอกจากนี้ยังได้แจ้งความให้ดำเนินคดีในข้อหาฐานปลอมเอกสารดวงตราของโจทก์ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 2 ถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และถอนการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร และให้จำเลยที่ 4 ถอนการจดทะเบียนรับจำนองเครื่องจักร หากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และที่ 4ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันคืนเครื่องจักรให้แก่โจทก์และร่วมกันชำระค่าเสียหายเกิดจากเครื่องจักรเสื่อมราคาคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,692,655 บาท ค่าเสียหายรายเดือนเดือนละ974,387.82 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 จะคืนเครื่องจักรให้แก่โจทก์ หรือมิฉะนั้นให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ร่วมกันชดใช้ราคาเครื่องจักรเป็นเงิน 58,463,275 บาทพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 8,769,491.25 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระราคาเครื่องจักรเสร็จ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอสินเชื่อจากโจทก์ในวงเงิน 105,000,000 บาท เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2532จำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องขอให้โจทก์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อซื้อเครื่องจักรทำน้ำมะเขือเทศจากบริษัทลอตซีแอนด์คาเทลลี่ เอส.พี.เอ. โดยแจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ซื้อเครื่องจักรดังกล่าว โจทก์ได้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อไปยังบริษัทผู้ขาย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532บริษัทลอตซีแอนด์คาเทลลี่ เอส.พี.เอ. ได้มีหนังสือแจ้งมายังจำเลยที่ 2 ว่าได้สินค้าลงเรือตามใบสั่งซื้อแล้ว พร้อมทั้งส่งเอกสารใบกำกับสินค้า บัญชีหีบห่อสินค้าและสำเนาภาพถ่ายใบตราส่งต่อมาสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ โจทก์ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังใบตราส่งและประทับรับทราบในบัญชีหีบห่อสินค้า ในที่สุดจำเลยที่ 2ได้นำเครื่องจักรไปติดตั้งที่โรงงานของจำเลยที่ 2 เมื่อติดตั้งเครื่องจักรเสร็จ จำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติเครื่องจักร พ.ศ. 2514โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน และได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวดีทุกประการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2ขอฟ้องแย้งว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 3โดยแจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกเครื่องจักรของโจทก์ และนำพนักงานสอบสวนไปยึดเครื่องจักรของจำเลยที่ 2 เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ต้องได้รับโทษทางอาญา และตามที่โจทก์แพร่ข่าวให้สื่อมวลชนทราบ และจับกุมจำเลยที่ 3 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเหตุให้งานต้องหยุดชะงัก เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 เสียชื่อเสียงในทางธุรกิจธนาคารต่าง ๆ เลิกให้กู้ยืมเงิน ทำให้จำเลยที่ 2 ขาดรายได้จากการผลิตสับปะรดวันละ 800,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534ถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 120,800,000 บาท ทำให้จำเลยที่ 2สูญเสียเครดิตทางการค้า จนไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติขาดรายได้ไปเป็นเงินจำนวน 100,000,000 บาท และจำเลยที่ 2ต้องจ่ายเงินจำนวน 5,000,000 บาท ประกันตัวจำเลยที่ 3 เนื่องจากโจทก์นำเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 ขอคิดค่าเสียหายที่ไม่สามารถนำเงินมาหมุนเวียนในกิจการวันละ 100,000 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,000,000 บาทและจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับตามฟ้องแย้งจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การจำเลยที่ 2 แต่ไม่รับฟ้องแย้งโดยให้เหตุผลว่าเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์ ขอให้ รับฟ้อง แย้ง
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทและตั๋วสัญญาใช้เงินตามมูลหนี้ที่โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและชำระเงินค่าเครื่องจักรแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปลอมเอกสารดวงตราของโจทก์นำไปจดทะเบียนว่าเครื่องจักรดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 แล้วนำไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และการจำนองเครื่องจักร แล้วให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนเครื่องจักรแก่โจทก์ หรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคาพร้อมทั้งชำระค่าเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งอ้างว่า โจทก์ทำละเมิดกลั่นแกล้งนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 3 กรรมการของจำเลยที่ 2ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียหายโดยนำเงินไปประกันตัวจำเลยที่ 3และขาดผลประโยชน์จากทางทำมาหาได้ เสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย เห็นได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ชอบที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปฟ้องเป็นคดีต่างหาก
พิพากษายืน

Share