คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6128/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยทำข้อตกลงกับโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 7 มิถุนายน 2539 นั้น จำเลยได้กระทำในฐานะส่วนตัวและไม่ได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดก อีกทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็ระบุชัดแจ้งว่าจำเลยจะโอนที่พิพาทส่วนของจำเลยให้แก่วัด พ. เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ด. เจ้ามรดกมีบุตร 2 คน คือ จำเลยกับ ส. ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกจาก ด. คนละครึ่งเช่นนี้ โจทก์จะมาฟ้องจำเลยให้โอนที่พิพาทส่วนของ ส. ให้แก่วัด พ. หาได้ไม่ อีกประการหนึ่งแม้จะได้ความว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทแต่ผู้เดียวก็ตาม แต่ขณะที่ทำข้อตกลงกับโจทก์นั้นยังไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกได้ครอบครองที่พิพาทต่อมาก็เป็นการครอบครองแทน ส. นอกจากนี้การที่ ส. ทราบข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ก็ไม่ได้หมายความว่า ส. มอบให้จำเลยเป็นผู้ตกลงทำสัญญายกที่พิพาทส่วนของ ส. ให้แก่วัด พ. แต่อย่างใดจึงพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่วัด พ. ได้เฉพาะส่วนของจำเลยเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 10 หน้า 23 สารบบเล่มหมู่ที่ 5หมู่ที่ 22 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์เนื้อที่ 22 ไร่ 60 ตารางวา ให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยาง ตำบลบ้านยางอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษาคดี หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 10 หน้า 23 สารบบเล่มหมู่ที่ 5 หน้า 22หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนของจำเลยเนื้อที่ 22 ไร่ 60 ตารางวา แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยาง ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 10 หน้า 23สารบบเล่มหมู่ที่ 5 หน้า 22 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์จังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนของจำเลยเนื้อที่ 11 ไร่ 30 ตารางวา แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยาง ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2539 โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงว่าถ้าศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ตาย จำเลยก็จะโอนที่พิพาทส่วนของจำเลยให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยาง ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์และโจทก์จะโอนที่พิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยางเช่นเดียวกันโดยให้ถือว่าข้อตกลงนี้เป็นสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเพื่อยกที่พิพาทให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยางตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 7 มิถุนายน2539 เอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยต้องโอนที่พิพาทให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยางตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้ครอบครองทำนาในที่พิพาทแต่ผู้เดียว นางสมจิตรไม่เคยเข้าครอบครองทำนาในที่พิพาทเลยอีกทั้งการที่จำเลยตกลงยกที่พิพาทให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยางนั้นนางสมจิตรก็ทราบดี จึงถือว่านางสมจิตรได้มอบให้จำเลยเป็นผู้ตกลงทำสัญญายกที่พิพาทส่วนของนางสมจิตรให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยางด้วยเห็นว่า ขณะที่จำเลยทำข้อตกลงกับโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 7 มิถุนายน 2539 เอกสารหมาย จ.2 นั้น จำเลยได้กระทำในฐานะส่วนตัวและไม่ได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดก อีกทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็ระบุชัดแจ้งว่าจำเลยจะโอนที่พิพาทส่วนของจำเลยให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยางเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นายดำ สินศิริ เจ้ามรดกมีบุตร 2 คน คือ จำเลยและนางสมจิตร สาหึงรัมย์ ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกจากนายดำคนละครึ่งเช่นนี้ โจทก์จะมาฟ้องจำเลยให้โอนที่พิพาทส่วนของนางสมจิตรให้แก่วัดโพธิ์ทองบ้านยางหาได้ไม่ อีกประการหนึ่งถึงแม้จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทแต่ผู้เดียวก็ตามแต่ขณะที่ทำข้อตกลงกับโจทก์นั้นยังไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกได้ครอบครองที่พิพาทต่อมา ก็เป็นการครอบครองแทนนางสมจิตร นอกจากนี้การที่นางสมจิตรทราบข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ก็ไม่ได้หมายความว่านางสมจิตรมอบให้จำเลยเป็นผู้ตกลงทำสัญญายกที่พิพาทส่วนของนางสมจิตรให้แก่วัดแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share