แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัท ม. จัดสรรพื้นคอนกรีตบนที่ว่างด้านหน้าอาคารของโจทก์และจำเลย รวมตลอดถึงด้านหน้าที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงเป็นทางสำหรับให้บุคคลที่ซื้อบ้านที่บริษัท ม. ได้จัดสรรขายใช้เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินได้ การที่จำเลยให้พนักงานของจำเลยและลูกค้าที่มาติดต่อกับจำเลยใช้และนำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่ไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธินเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้พื้นที่เข้าออกได้แม้เป็นการชั่วคราวแต่ก็เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 และยังเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรตามมาตรา 1337 อีกด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2525 บริษัทมิตรโยธิน จำกัดได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7052 เป็นแปลงย่อยประมาณ 42 แปลงและจัดให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 7052 ที่เหลืออยู่เป็นทางเข้าออกของที่ดินแปลงอื่นสู่ทางสาธารณะ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 119275และเป็นผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 119276 พร้อมอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นเลขที่ 1418/10 และเลขที่ 1418/9 โดยซื้อมาจากบริษัทมิตรโยธิน จำกัดโจทก์ประกอบอาชีพขายรถจักรยานยนต์ เมื่อประมาณปี 2533 ถึงปี 2534จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนได้ย้ายเข้ามาอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 1418/6 ถึงเลขที่ 1418/8 เพื่อประกอบธุรกิจ และอยู่ติดกับอาคารพาณิชย์ของโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 4 มีสิทธิใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7052 เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเท่าเทียมกันแต่จำเลยที่ 4 ใช้พื้นที่ว่างหน้าอาคารพาณิชย์ของจำเลยเป็นที่จอดรถเต็มพื้นที่โจทก์ขอร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลายครั้งว่า อย่านำรถยนต์มาจอดขวางทางเข้าออกจนมีปากเสียงกันบ่อยครั้ง ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ร่วมกันเชิดจำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้บงการออกคำสั่งให้พนักงานของจำเลยที่ 4นำกระถางต้นไม้มาวางขวางปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์ที่จะลงสู่ถนนพหลโยธินและจอดรถยนต์ปิดกั้นมิให้โจทก์และลูกค้านำรถยนต์เข้าออกสู่ร้านของโจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 4 เว้นที่ว่างให้มีความกว้าง 2.50 เมตร ขนานกับทางเท้าที่ติดกับถนนพหลโยธินเพื่อให้โจทก์และลูกค้าโจทก์มีทางเข้าออกได้ แต่จำเลยทั้งห้ายังคงเพิกเฉย นอกจากนั้นบริษัทมิตรโยธิน จำกัด ได้จัดทำถนนซอยหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์และส่วนที่โจทก์ครอบครองกับหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4 ยาวประมาณ 18.50 เมตร กว้างประมาณ 4.50 เมตรเพื่อประโยชน์ของโจทก์และจำเลยที่ 4 ใช้ร่วมกัน หลังจากโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยใช้ถนนซอยหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4เป็นที่จอดรถของจำเลยบริวาร ลูกค้าหรือผู้มาติดต่อจนแน่น โจทก์ไม่อาจใช้ถนนซอยดังกล่าวเข้าออกได้ ขอให้บังคับจำเลยที่ 4 เว้นช่องทางถาวรขนาดความกว้าง 2.50 เมตร ขนานและติดกับทางเท้าถนนพหลโยธินยกระดับตลอดความยาวหน้าที่ดินของจำเลยที่ 4 ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4บริวารและลูกค้า หรือผู้มาติดต่อกับจำเลยที่ 4 จอดรถหรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางการเข้าออกอาคารพาณิชย์ของโจทก์ และให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าเสียหายเป็นรายวัน วันละ 5,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยที่ 4 จะหาที่จอดรถให้พนักงานและลูกค้ารวมทั้งบริวารจนเป็นเหตุให้ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์และจนกว่าจำเลยทั้งห้าขนย้ายกระถางต้นไม้ออกจากทางที่วางขวางทางเข้าออกโจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากมิใช่เจ้าของที่ดินที่พิพาท ที่พิพาทเป็นพื้นที่ว่างหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์และจำเลยที่ 4 ที่บริษัทมิตรโยธิน จำกัด เว้นไว้ในขณะปลูกสร้างตามกำหนดระยะร่นจากถนนพหลโยธิน ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเพื่อให้เจ้าของอาคารพาณิชย์ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่หน้าอาคารเฉพาะของตนเองและทางพิพาทดังกล่าวบริษัทมิตรโยธิน จำกัด มิได้ยกให้เป็นทางสาธารณะหรือเป็นทางเข้าออกแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์และที่ดินตามที่โจทก์อ้าง เจ้าของอาคารพาณิชย์ทุกรายรวมทั้งโจทก์สามารถใช้ตะแกรงเหล็กวางที่ขอบถนนพหลโยธินนำรถแล่นผ่านทางหน้าอาคารขึ้นลงสู่ถนนพหลโยธินทางหน้าตึกแถวของตนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ทางพิพาทเข้าออก นอกจากนี้โจทก์ยังใช้พื้นที่ว่างหน้าอาคารพาณิชย์เป็นที่จอดรถเต็มพื้นที่ และเจ้าของอาคารพาณิชย์ข้างเคียงโจทก์ก็นำกระถางต้นไม้วางกั้นอาณาเขตหน้าอาคารพาณิชย์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ไม่เคยสั่งให้พนักงานของจำเลยที่ 4 นำกระถางต้นไม้ไปวางขวางทางเข้าออกตึกแถวของโจทก์ที่จะออกสู่ถนนพหลโยธิน หรือสั่งให้พนักงานของจำเลยที่ 4 จอดรถยนต์ปิดกั้นโจทก์และลูกค้ามิให้นำรถยนต์เข้าออกสู่ร้านของโจทก์ หรือถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เชิดให้ทำเช่นว่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ห้ามจำเลยที่ 4 และบริวาร ลูกค้า หรือผู้ที่มาติดต่อกับจำเลยจอดหรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางการเข้าออกของโจทก์ และห้ามจำเลยที่ 4 กระทำซ้ำซึ่งการกระทำละเมิดดังกล่าว และให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือนวันละ 2,000 บาทนับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยที่ 4 จะหาที่จอดรถให้พนักงานและลูกค้า รวมทั้งบริวารจนเป็นเหตุให้ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์และจนกว่าจำเลยที่ 4 ขนย้ายกระถางต้นไม้ออกจากทางที่วางขวางทางเข้าออกของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 เว้นช่องทางถาวรขนาดความกว้าง 2.50 เมตร ขนานและติดกับทางเท้าริมถนนพหลโยธินตลอดหน้าที่ดินของจำเลยที่ 4 ห้ามจำเลยที่ 4 และบริวารลูกค้าหรือผู้มาติดต่อกับจำเลยที่ 4 จอดรถหรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางการเข้าออกช่องทางถาวรดังกล่าวของโจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าเสียหายเป็นรายวัน วันละ 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า บริษัทมิตรโยธิน จำกัด เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7052ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ4 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา และได้นำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรเป็นแปลงย่อย44 แปลง ก่อสร้างบ้านพักอาศัยแบบทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นออกขายแก่บุคคลทั่วไปและที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 81 ตารางวาบริษัทมิตรโยธิน จำกัด จัดสร้างเป็นทางคอนกรีตผ่านหน้าที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงมีทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โดยผ่านด้านข้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 119279 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกจากโฉนดเลขที่ 7052 ส่วนพื้นที่ว่างด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 119275 ถึงเลขที่ 119279 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร บริษัทมิตรโยธิน จำกัด ได้จัดสร้างเป็นถนนคอนกรีตกว้างประมาณ 9 เมตร ทางเท้าริมถนนพหลโยธินกว้างประมาณ 1 เมตรและสูงกว่าพื้นถนนพหลโยธิน 10 นิ้ว และเชื่อมกับทางออกสู่ถนนพหลโยธินด้านข้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 119279 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่119275 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 1418/9 และผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 119276 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 1418/10 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โจทก์ใช้พื้นที่วางด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 119277 ถึงเลขที่ 119279 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินและเมื่อปี 2531 บริษัทมิตรโยธิน จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชีเสร็จ โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 7052 ยังเป็นชื่อของบริษัทมิตรโยธินจำกัด ต่อมาเมื่อปี 2533 จำเลยที่ 4 ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 119277 ถึงเลขที่ 119279 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 1418/6 ถึงเลขที่ 1418/8ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพาณิชย์ของโจทก์ จำเลยที่ 4 ใช้พื้นที่ว่างด้านหลังอาคารจำเลยที่ 4 เป็นที่จอดรถของพนักงานและลูกค้าที่มาติดต่อจนเต็มพื้นที่และนำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารระหว่างอาคารของโจทก์กับจำเลยที่ 4 ออกไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธิน
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาข้อต่อไปว่า ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นเรื่องของการเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องมาจากความไม่สะดวกสบายของโจทก์เป็นการชั่วคราว ไม่ใช่ถาวรตลอดไป การที่จะถือว่าเป็นละเมิดจะต้องเป็นเรื่องถาวรตลอดไป บริเวณพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารของจำเลยที่ 4ที่พิพาท โจทก์มีสิทธิใช้สอยได้ แต่โจทก์และลูกค้าที่มาติดต่อโจทก์ไม่ใช้สอยบริเวณที่พิพาท กลับจะใช้เป็นทางเข้าออกอย่างเดียว จึงไม่ถือว่าเป็นการเดือดร้อนรำคาญถึงกับเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 บัญญัติว่า “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” และมาตรา 1337 บัญญัติว่า “บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน” ข้อเท็จจริงคดีนี้ตามที่กล่าวมาข้างต้นและคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 4มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ปรากฏว่า พื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารของโจทก์และจำเลยที่ 4 เดิมบริษัทมิตรโยธิน จำกัด ผู้จัดสรรที่ดิน ได้จัดสร้างเป็นพื้นคอนกรีตเชื่อมกับทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โจทก์ใช้พื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารของจำเลยที่ 4 หรืออีกนัยหนึ่งพื้นที่พิพาทเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินต่อมาจำเลยที่ 4 ได้นำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่พิพาทไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธินและใช้พื้นที่พิพาทเป็นที่จอดรถของพนักงานของจำเลยที่ 4และลูกค้าที่มาติดต่อกับจำเลยที่ 4 จนเต็มพื้นที่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้พื้นที่พิพาทเข้าออกสู่ถนนพหลโยธิน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า การที่บริษัทมิตรโยธิน จำกัด จัดสรรพื้นคอนกรีตบนพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารของโจทก์และจำเลยที่ 4 รวมตลอดถึงผ่านด้านหน้าที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงก็เพื่อให้บุคคลที่ได้ซื้อบ้านพักอาศัยแบบทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ที่บริษัทดังกล่าวได้จัดสรร ใช้เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินอันเป็นทางสาธารณะได้ การที่ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวหรือพื้นที่พิพาทโดยให้พนักงานของจำเลยที่ 4 และลูกค้าที่มาติดต่อกับจำเลยที่ 4 ใช้จนเต็มพื้นที่พิพาทและนำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่พิพาทไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธินเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้พื้นที่พิพาทเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินอันเป็นทางสาธารณะเช่นนี้ แม้โจทก์จะไม่สะดวกสบายเป็นการชั่วคราวตามที่จำเลยที่ 4 อ้างในฎีกาก็ตาม ก็น่าจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดความสะดวก หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้พื้นที่พิพาทของโจทก์เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินอันเป็นทางสาธารณะการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 แล้ว ยังเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1337 อีกด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้”
พิพากษายืน