คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6103/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 4,000,000 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีเจตนาจะขายที่ดินพิพาทในราคา 52,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 ก็ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทมีราคาท้องตลาดมากกว่า 36,000,000 บาท เป็นการทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดเพราะถูกนายหน้าขายที่ดินพิพาทหลอกลวง ซึ่งตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 กับพวกรู้ถึงการหลอกลวง การที่โจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันเช่นนี้ แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 เช่นเดียวกัน เมื่อนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 156 แต่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159 จึงต้องถือว่านิติกรรมรายนี้เป็นโมฆะเพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง และแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงโต อินแย้ม ซึ่งมีทรัพย์มรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๖๕๔ โดยจำเลยที่ ๑ กับพวก ได้ร่วมกันฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวในราคา ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของโจทก์ เพราะโจทก์ตกลงขายที่ดินในราคา ๕๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ไม่เคยได้รับเงินจากจำเลย ที่ ๑ นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นโมฆะ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินของโจทก์ไป จดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ รับจำนองไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน การจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่มีผลผูกพันที่ดินโจทก์ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๖๕๔ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปลอดจำนอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนโจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ร่วมกับผู้ใดฉ้อโกงโจทก์ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ ๑ และก่อนซื้อได้พากันไปดูที่ดิน โดยนายพงษ์ชัย โฆษิตธนากร บิดาจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกับนายสมศักดิ์ เตชะเกษม ซื้อที่ดินโจทก์ในราคา ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ในวันทำสัญญาที่สำนักงานที่ดินไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายในนามของนายสมศักดิ์และบิดาจำเลยที่ ๑ ได้ เพราะบิดาจำเลยที่ ๑ เป็นคนต่างด้าวให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ซื้อแทน ในวันนั้นฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์ บุตรเขย และบุตรสาวโจทก์ไปด้วย จดทะเบียนซื้อขายกันในราคา ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อไม่ให้ เสียเงินมากต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินโดยเปิดเผย และในวันนั้นบิดาจำเลยที่ ๑ ได้มอบเงินจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้บุตรสาวและบุตรเขยโจทก์ไปแล้ว โจทก์ได้นำเงินไปชำระค่าธรรมเนียมบางส่วน ต่อมาฝ่ายจำเลยที่ ๑ ได้ชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน ๑๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้ฝ่ายโจทก์ โจทก์ไม่ได้ทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จำเลย ที่ ๒ รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ ๑ กู้เงินจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๖๕๔ เลขที่ดิน ๕๘ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๒ ส่งมอบหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๖๕๔ เลขที่ดิน ๕๘ นาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี คืนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรม นายเสนอ อินแย้ม ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๖๕๔ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีชื่อนายสิงโต อินแย้ม สามีโจทก์เป็นผู้ ครอบครองทำประโยชน์ หลังจากนายสิงโตถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงโต ต่อมาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๒ โจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ในราคา ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ เพราะถูกกลฉ้อฉลและโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทในราคา ๕๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่เคยตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ในราคา ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่จดทะเบียนต่อพนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบหรือ ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดังที่จำเลยที่ ๑ กล่าวอ้าง ส่วนสาเหตุที่โจทก์ไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ในราคา ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาทนั้น น่าเชื่อว่าโจทก์ถูกหลอกลวงให้ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ประกอบกับการที่จำเลยที่ ๑ นำสืบต่อสู้คดีว่า โจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ในราคา ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และได้ชำระราคาที่ดินให้แก่บุตรสาวและบุตรเขยโจทก์ไปแล้ว โดยไม่เป็นความจริง และจำเลยที่ ๑ ก็ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทมีราคาตามท้องตลาดมากกว่า ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงทำให้น่าเชื่อว่าโจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ในราคา ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยสำคัญผิดเพราะถูกนายหน้าขายที่ดินหลอกลวงซึ่งตามพฤติการณ์จำเลยที่ ๑ กับพวกรู้หรือควรจะได้รู้ถึงการหลอกลวงดังกล่าว การที่โจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันเช่นนี้ แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำ นิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖ เช่นเดียวกัน เมื่อนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและเกิดจากกลฉ้อฉลในขณะเดียวกันแต่ผลทางกฎหมายต่างกันกล่าวคือ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๖ แต่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา ๑๕๙ จึงต้องถือว่านิติกรรมรายนี้เป็นโมฆะ เพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ ด้วยเหตุนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่า นิติกรรมเป็นโมฆะจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๒๐๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์

Share