คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดย เคร่งครัด
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์โดยระบุว่าใช้หนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 แต่ในสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงแบบที่พิมพ์ไว้โดยเว้นช่องว่างเพื่อกรอกรายละเอียดต่าง ๆ โดยมิได้ระบุจำนวนเงินไว้และข้อความที่ว่า ยอมรับผิดในหนี้สินทั้งหมด เป็นข้อความต่อเนื่องจากข้อความในตอนแรกที่ต้องกรอกจำนวนเงินไว้ก่อน เมื่อในสัญญาค้ำประกันไม่กำหนดจำนวนเงินที่จะค้ำประกันไว้จึงเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์และไม่อาจอนุมานได้ว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่าใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคล ล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูกเป็นค่าทนายความ) ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 2,400,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2539 ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์อีก 400,000 บาท และทำบันทึกข้อตกลงไว้ว่าเป็นหนี้โจทก์อีก 5,100,000 บาท ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์ และเมื่อเทียบเคียง ลายมือชื่อตามสัญญาค้ำประกันกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในใบตอบรับของไปรษณีย์ และที่ปรากฏในสำนวนแล้วมีลักษณะคล้ายกัน การที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าเป็นลายมือชื่อปลอมก็เป็นการกล่าวอ้างแต่เพียงลอย ๆ ทั้งลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งปรากฏตามเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนดังกล่าวก็สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างชัดเจนโดยโจทก์ไม่จำต้องขอให้มีการส่งไปตรวจพิสูจน์ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าพยานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันจริง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า สัญญาค้ำประกันไม่มีการลงวัน เดือน ปีที่ออกหลักฐาน และไม่ระบุวงเงินที่ค้ำประกัน โดยเว้นว่างช่องที่จะต้อง กรอกรายละเอียดต่าง ๆ ของสัญญาไว้ทั้งหมด และข้อความตอนท้ายที่ว่า “ตามรายละเอียดสัญญาข้อที่ 1 – 4 ระหว่าง นายนิวัฒน์ ตรีอุดม กับนางสางฉัตรชฎา เชษฐพันธ์” นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นสัญญาฉบับใดและมีข้อความอย่างใด แม้โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ทำหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2539 สัญญากู้ยืมเงิน และบันทึกข้อตกลง โดยจำเลยที่ 2 รับทราบตลอด แต่ในสัญญาค้ำประกัน ก็มิได้ระบุรายละเอียดว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้คราวใดและมีจำนวนเงินเท่าใดที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิด ซึ่งสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน ต่อหน้าโจทก์ โดยระบุว่าใช้หนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 แต่ในสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงแบบพิมพ์ไว้โดยเว้นช่องว่างเพื่อกรอกรายละเอียดต่าง ๆ โดยมิได้ระบุจำนวนเงินไว้ ดังนั้น ข้อความที่ว่ายอมรับผิดในหนี้สินทั้งหมด จึงเป็น ข้อความต่อเนื่องจากข้อความในตอนแรกที่ต้องกรอกจำนวนเงินไว้ก่อน เมื่อในสัญญาค้ำประกันไม่กำหนดจำนวนเงินที่จะค้ำประกันไว้จึงเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์และไม่อาจอนุมานได้ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่าใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษายืน

Share