แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้จำนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่บริษัทเงินทุนทรัพย์ ส. เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. ผู้รับจำนำ จึงมีฐานะเสมือนเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ผู้จำนำ ดังนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการสลักหลังเพื่อจำนำ การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. ผู้รับจำนำสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อไปจึงมีผลเท่ากับเป็นการสลักหลังของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 วรรคหนึ่ง ผู้รับสลักหลังมีสิทธิเท่ากับผู้รับจำนำ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับสลักหลังมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน คงมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,098,356.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 98,356.16 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วน่บริษัทเงินทุนธนสยามจำกัด (มหาชน) มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 3 หรือตามคำสั่ง ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้จำนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และต่อมามีการสลักหลังโอนให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นประการแรกว่า นายเจิดพันธุ์มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนโจทก์หรือไม่… เห็นว่า แม้นายเจิดพันธุ์จะไม่ได้รู้เห็นในขณะที่โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทเงินทุนธนสยาม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์แต่เมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจพบว่าในช่องผู้มอบอำนาจมีข้อความระบุไว้ว่าโจทก์โดยนางอโนมา นางมารยาท และนายวิชาญเป็นผู้มอบอำนาจ ซึ่งนางอโนมา นางมารยาทและนายวิชาญนั้นได้ความจากสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพระหว่างโจทก์กับบริษัทเงินทุนธนสยาม จำกัด (มหาชน) ว่าเป็นกรรมการของโจทก์ทั้งเมื่อพิจารณาลายมือชื่อที่ลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจดังกล่าว ก็พบว่าคล้ายกับตัวอย่างลายมือชื่อของนางอโนมาและนางมารยาทที่ลงไว้ในสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในส่วนลายมือชื่อที่เขียนด้วยหมึกสีดำในหนังสือมอบอำนาจแม้จะแตกต่างกับตัวอย่างลายมือชื่อในสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ตาม แต่นายวิชาญซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์อีกคนหนึ่งก็ได้มาเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ ซึ่งเขียนด้วยหมึกสีดำเป็นลายมือชื่อของตน จากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำมาสืบดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์โดยนางอโนมา นางมารยาทและนายวิชาญ เป็นกรรมการของโจทก์และทั้งสามได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้บริษัทเงินทุนธนสยาม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ตามที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจ สำหรับการแต่งตั้งตัวแทนช่วง นั้น นายเจิดพันธุ์ซึ่งเป็นตัวแทนช่วงก็เบิกความยืนยันว่า บริษัทเงินทุนธนสยาม จำกัด (มหาชน) แต่งตั้งให้ตนเองเป็นตัวแทนช่วงดำเนินคดีนี้แทนโดยมีหนังสือมอบอำนาจมาสนับสนุน ทั้งเมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจก็ปรากฏว่ามีนายสามชัย และนายประเสริฐ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเงินทุนธนสยาม จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบดังกล่าวมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า บริษัทเงินทุนธนสยาม จำกัด (มหาชน) โดยนายสามชัยและนายประเสริฐ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวได้แต่งตั้งให้นายเจิดพันธุ์เป็นตัวแทนช่วงดำเนินคดีนี้แทน นายเจิดพันธุ์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ส่วนที่จำเลยที่ 3 ให้การและฎีกาในทำนองว่า ลายมือชื่อที่ลงไว้ในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับ ในช่องผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และบริษัทเงินทุนธนสยาม จำกัด (มหาชน) หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีข้อเท็จจริงใดมาสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นประการต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาในทำนองว่าจำเลยที่ 3 จำนำตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นประกันหนี้และได้ลงลายมือชื่อด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อรับเงินมิใช่เป็นการสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแต่อย่างใดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนำจึงไม่มีสิทธิสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อไป เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้จำนำตั๋วสัญญาใช้เงินแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนำ จึงมีฐานะเสมือนเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ผู้จำนำ ดังนั้นแม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการสลักหลังเพื่อจำนำ การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนำสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อไปจึงมีผลเท่ากับเป็นการสลักหลังของตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 926 วรรคหนึ่ง ผู้รับสลักหลังมีสิทธิเท่ากับผู้รับจำนำ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับสลักหลังมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน คงมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ