คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ถือเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาเพียงผู้เดียวจะเป็นผู้วินิจฉัยและศาลที่รับคดีไว้ต้องเสนอปัญหาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 แต่คดีนี้หลังจากจำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้ว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้วเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นไม่ใช่กรณีที่มีปัญหาว่าอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ และได้งดชี้สองสถานและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยทั้งสองก็มิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้งและมิได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวเพื่อเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยอีกแต่อย่างใดแสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับอำนาจศาลชั้นต้นและคดีไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลที่ต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยอีกแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองประกอบอาชีพประมง ระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2541 จำเลยทั้งสองร่วมกันซื้อน้ำมันโซล่าไปจากโจทก์หลายครั้งและได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรปราการ กับเช็คธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสมุทรปราการ รวม 9 ฉบับ เป็นเงิน 1,133,298 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าน้ำมันโซล่าดังกล่าว ครั้นเมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองต้องชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ในระหว่างพิจารณาจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์คงเหลือต้นเงิน ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 จำนวน 175,500.74 บาท โจทก์ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้งแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 175,500.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทจำนวน 9 ฉบับ ให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าน้ำมันโซล่าที่โจทก์ขายให้แก่กองเรือประมงของจำเลยทั้งสองจริง แต่การซื้อขายน้ำมันดังกล่าวเป็นการกระทำอันผิดกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ได้ดัดแปลงเรือประมงให้เป็นเรือบรรทุกน้ำมันแล้วเดินทางเข้าไปซื้อน้ำมันในประเทศสิงคโปร์โดยไม่ได้ร้บอนุญาตให้เป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โจทก์นำน้ำมันไปขายให้แก่บรรดาเรือไทยที่ทำการประมงอยู่ในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเชีย โดยโจทก์ไม่ได้แจ้งการนำเข้าน้ำมันให้แก่ทางการประเทศอินโดนีเชียทราบเพื่อการเสียภาษีอากรการค้าน้ำมันของโจทก์เป็นการผิดต่อกฎหมายทั้งของประเทศไทยและประเทศอินโดนีเชีย รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ การสั่งจ่ายเช็คทั้ง 9 ฉบับ ให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ การที่โจทก์ลักลอบนำน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ไปขายแก่กองเรือประมงของจำเลยทั้งสองในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซียแล้ว แล้วโจทก์รับเช็คทั้ง 9 ฉบับ จากจำเลยทั้งสองในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องการซื้อขายระหว่างประเทศ คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 175,500.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การซื้อขายน้ำมันโซล่าระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายระหว่างประเทศ การที่จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้ง 9 ฉบับ ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายน้ำมันโซล่าเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2541 และโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2542 ซึ่งขณะนั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้เปิดทำการแล้ว คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นไม่เสนอปัญหาเรื่องอำนาจศาลให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยเสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบแล้วเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ถือเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาเพียงผู้เดียวจะเป็นผู้วินิจฉัย และศาลที่รับคดีไว้ต้องเสนอปัญหาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 แต่คดีนี้หลังจากจำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้ว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้น ไม่ใช่กรณีที่มีปัญหาว่าอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ และได้งดชี้สองสถานและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยทั้งสองก็มิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้งและมิได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวเพื่อเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยอีกแต่อย่างใด แสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับอำนาจศาลชั้นต้นและคดีไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลที่ต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยอีกแล้วดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าการที่ศาลชั้นต้นไม่ให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวเพื่อเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย แต่ได้พิจารณาจนเสร็จสำนวนเป็นการชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share