แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มี ส. ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์โดย ส. มิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ให้อำนาจดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์แก่ ส. กรณีจึงถือว่าเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งในชั้นตรวจรับคำคู่ความศาลชั้นต้นผู้ตรวจรับชอบที่จะสั่งแก้ไขเสียให้ถูกต้อง หรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 แต่ศาลชั้นต้นหาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ กลับรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ดำเนินการต่อมาจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนและยื่นคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะถือว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งให้ ส. เป็นทนายความของตนให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ในชั้นฎีกาแล้วจึงไม่จำต้องดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้อีก แต่เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่เพื่อเป็นไปตามลำดับชั้นศาล
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 632,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้ตกเป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า กรณีมีเหตุสมควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่หรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า คดีนี้ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีนายสมชาย ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งให้นายสมชายเป็นทนายความ ทั้งนายสมชายมิได้ทำหน้าที่ทนายความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อนที่จะมีการยื่นอุทธรณ์ คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เห็นว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีนายสมชายทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์โดยที่นายสมชายมิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ให้อำนาจดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์แก่นายสมชาย กรณีจึงถือว่าเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจรับคำคู่ความศาลชั้นต้นผู้ตรวจรับชอบที่จะสั่งแก้ไขเสียให้ถูกต้อง หรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 แต่ศาลชั้นต้นหาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ กลับรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ดำเนินการต่อมา จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนและยื่นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะถือว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขตามที่กล่าวได้ แต่อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งให้นายสมชายเป็นทนายความของตนให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ในชั้นฎีกานี้แล้ว จึงไม่จำต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีกแต่เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่เพื่อเป็นไปตามลำดับชั้นศาล”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่