คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีนั้นเป็นของศาลเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นแต่เพียงเจ้าพนักงานของศาลในการที่จะบังคับคดีเท่านั้น ไม่มีอำนาจจะเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ด้วยประการใด
เรื่องค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีในที่สุดก็อยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งเรียกเก็บหรือไม่เรียก ฉะนั้น การที่ศาลสั่งไม่เรียกเก็บ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตามไม่มีสิทธิจะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลในเรื่องค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี (หมายเหตุ ทับฎีกาที่ 1053/2468)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายและขอให้พิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว

ศาลชั้นต้นสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยชั่วคราว แล้วต่อมาได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด

โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา และโจทก์ได้นำยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ ต่อมาจำเลยถูกฟ้องล้มละลายศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและได้หักค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินจากที่ขายได้ร้อยละ 5 และคิดหักค่าธรรมเนียมในการยึดร้อยละ 3 ครึ่งจากราคาที่กองหมายตีไว้ พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งส่งไปชำระให้กองหมายนั้น ไม่เห็นพ้องด้วย ขอให้ศาลสั่งคืน

ศาลชั้นต้นสั่งให้กองหมายคืน

หัวหน้ากองหมายอุทธรณ์

ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ อ้างว่าไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลในกรณีเช่นนี้

หัวหน้ากองหมายอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์สั่งให้รับอุทธรณ์ แล้วศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งให้คืนเงินค่าธรรมเนียมชอบแล้ว พิพากษายืน

หัวหน้ากองหมายฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า หัวหน้ากองหมายเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ศาลแต่งตั้งเพื่อทำการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ปรากฏตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477มาตรา 5(ข) ที่ว่าให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎจัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องเจ้าพนักงานศาล (เช่น จ่าศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี และนักการส่งบัตรหมาย) และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(14) ก็บัญญัติว่า “เจ้าพนักงานบังคับคดีหมายความว่า เจ้าพนักงานหรือพนักงานอื่นมีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง” เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานศาลเช่นนี้ การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็คือ การกระทำของศาลแม้ค่าธรรมเนียมเมื่อยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้เรียกร้อยละ 3 ครึ่ง ได้ระบุไว้ในตาราง 5(3) ว่าเป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดี แต่ก็มีหมายเหตุไว้ว่า” ฯลฯ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนด ถ้าไม่ตกลง ก็ให้คู่ความเสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 และมาตรา 296 ได้บัญญัติว่า” ฯลฯ ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียตามคำบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น อาจขอให้ศาลสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ ฯลฯ เมื่อได้ยื่นคำขอและศาลได้ไต่สวนแล้วให้มีคำสั่งอนุญาตหรือยกคำขอนั้น” และในมาตรา 302ยังได้บัญญัติระบุศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีไว้ชัด

ตามบทบัญญัติดังกล่าวมา เห็นได้ว่าอำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีนั้นเป็นอำนาจของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นแต่เพียงเจ้าพนักงานของศาลเป็นส่วนหนึ่งของศาลในการที่จะบังคับคดีเท่านั้น ไม่มีอำนาจจะเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ด้วยประการใด ๆ

ยิ่งกว่านั้น มาตรา 161 ยังบัญญัติว่า ใครมีหน้าที่เสียค่าฤชาธรรมเนียมและยังได้ให้อำนาจศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะสั่งแสดงว่าค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีนั้น ในที่สุดก็อยู่ในอำนาจของศาลที่จะเรียกเก็บหรือไม่เรียก เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นแต่เพียงเจ้าพนักงานของศาลในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีเท่านั้น การที่ศาลสั่งไม่เรียกเก็บ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องปฏิบัติการไปตามนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลในเรื่องค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีรายนี้ได้

ฎีกาหัวหน้ากองหมายไม่มีทางที่จะรับไว้พิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์รับพิจารณามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วย ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อที่ยกอุทธรณ์ของหัวหน้ากองหมาย โดยพิพากษาให้ยกฎีกาของหัวหน้ากองหมายนั้นเสีย

Share