คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3341/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาการเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทยโจทก์กับจำเลยผู้เช่าข้อ 2.6 วรรคท้าย ที่ว่า การระงับบริการอันเนื่องจากการผิดสัญญาของผู้เช่าเอง ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าระหว่างระงับบริการนั้น การที่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าใช้บริการถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเนื่องจากความผิดของจำเลยเช่นเดียวกันจำเลยจึงต้องชำระค่าเช่าระหว่างระงับบริการนั้นด้วย ตามสัญญาเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวข้อ 2.5 ระบุว่าหากผู้เช่าไม่ประสงค์จะใช้บริการผู้เช่าต้องแจ้งบอกเลิกค่าเช่าให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน ดังนั้น การที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าติดกัน 2 เดือน แต่มิได้บอกเลิกการเช่าเป็นลายลักษณ์อักษรจึงถือไม่ได้ว่าสัญญาเลิกกันแล้ว สัญญาการเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัว ข้อ 2.5ที่ระบุว่า ถ้าครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าไม่บอกเลิกสัญญาให้ถือว่าผู้เช่าได้ตกลงเช่าต่อไปก็ดีและข้อ 2.6 ที่ระบุว่าการระงับบริการอันเนื่องจากการผิดสัญญาของผู้เช่าเองผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าระหว่างระงับบริการนั้นก็ดีมิใช่เป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบไม่เป็นธรรมแก่จำเลยเพราะเป็นเพียงกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาอันจะพึงปฏิบัติต่อกันและกันเท่านั้น จำเลยเป็นฝ่ายเลือกใช้บริการหากเห็นว่าข้อสัญญาของโจทก์เอาเปรียบก็เลือกใช้บริการที่อื่นได้ การที่จำเลยไม่ใช่บริการของโจทก์ แต่ก็มีได้บอกเลิกสัญญานำเครื่องวิทยุติดตามตัวไปคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเครื่องวิทยุดังกล่าวไปให้ผู้อื่นเช่าต่อไปได้ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ แล้วจะมิให้โจทก์เรียกค่าเช่าใช้บริการจากจำเลยได้อย่างไรข้อสัญญาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นธรรม หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าใช้วิทยุติดตามตัวไปจากโจทก์โดยวางเงินประกันจำนวน 4,000 บาท และยอมให้หักชำระค่าเช่าใช้บริการที่ค้าง และค่าวิทยุพร้อมอุปกรณ์ที่สูญหายหรือเสียหายสัญญามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 สิ้นสุดวันที่28 กุมภาพันธ์ 2528 หากครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่บอกเลิกสัญญาและยังครอบครองวิทยุอยู่ให้ถือว่าจำเลยตกลงเช่าใช้บริการต่อไปจำเลยรับวิทยุพร้อมอุปกรณ์ไปจากโจทก์แล้วในวันทำสัญญา ครบกำหนดอายุสัญญาแล้วจำเลยไม่บอกเลิกสัญญาและยังคงครอบครองใช้บริการวิทยุของโจทก์ต่อไป จำเลยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2528ถึงเดือนธันวาคม 2530 รวม 30 เดือน เป็นเงินค่าเช่า 17,840 บาทโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2530 จำเลยแจ้งว่าวิทยุและอุปกรณ์สูญหายไป สัญญาเช่าใช้บริการจึงสิ้นสุดลงและโจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระค่าเช่าที่ค้าง แต่จำเลยเพิกเฉยเสียโจทก์จึงนำเงินประกันจำนวน 4,000 บาท หักชำระค่าเช่าคงเหลือค่าเช่าที่จำเลยต้องชำระอีก 13,840 บาท จำเลยต้องใช้ราคาวิทยุและอุปกรณ์คิดเป็นเงิน 3,690 บาท ให้โจทก์ด้วย รวมเป็นจำนวนที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น 17,530 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉยจึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 17,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าใช้บริการโจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียวจำเลยจำต้องทำสัญญาด้วยทั้งที่ข้อความในสัญญาหลายตอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ได้แก่ข้อสัญญาที่ว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าไม่บอกเลิกสัญญาให้ถือว่าผู้เช่าตกลงเช่าต่อไป และที่ว่าการระงับบริการอันเนื่องจากความผิดสัญญาของผู้เช่าเอง ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าระหว่างการระงับบริการนั้น จำเลยเช่าใช้บริการวิทยุของโจทก์ตั้งแต่วันที่6 กุมภาพันธ์ 2528 ถึงเดือนกรกฎาคม 2528 โดยชำระค่าเช่ามาโดยตลอดต่อมาเดือนสิงหาคม 2528 จำเลยมีโทรศัพท์ใช้จึงไม่ได้ใช้บริการวิทยุของโจทก์อีกและค้างชำระค่าเช่าติดต่อกันเกิน 2 เดือน ซึ่งตามสัญญาโจทก์จะงดการให้บริการทันที และถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยก็เคยโทรศัพท์แจ้งโจทก์ทราบและให้นำเงินประกันหักชำระค่าวิทยุและอุปกรณ์ได้ ต่อมาจำเลยย้ายสำนักงานวิทยุของโจทก์ได้สูญหายไปในช่วงเวลานั้น โจทก์มีหนังสือทวงถามค่าเช่าเป็นเงิน 15,600 บาทจำเลยจึงมีหนังสือแจ้งเหตุผลว่าวิทยุสูญหายไปและจำเลยให้โจทก์หักเงินประกันเป็นราคาวิทยุแล้ว ดังนี้เมื่อโจทก์ระงับการให้บริการเนื่องจากจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าใช้วิทยุ 2 เดือน และโจทก์หักเงินประกันชำระราคาวิทยุพร้อมอุปกรณ์แล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายอีกไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าและค่าดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 17,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์เพียง 17,530 บาทต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คงอุทธรณ์ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยทำสัญญาเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวตามเอกสารหมาย จ.7 โดยยอมรับว่าจะปฏิบัติตามข้อสัญญาและระเบียบของการสื่อสารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัว ฉบับที่ 29/2521 พ.ศ. 2521จำเลยวางเงินประกันเครื่องวิทยุติดตามตัวไว้เป็นเงิน 4,000 บาทกำหนดค่าเช่าเดือนละ 600 บาท สัญญาเช่ามีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 6กุมภาพันธ์ 2528 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 หลังจากนั้นจำเลยใช้บริการและชำระค่าเช่าให้โจทก์ ตลอดมาจำเลยไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2528 ถึงเดือนธันวาคม 2530 รวม 30 เดือนเป็นเงิน 13,840 บาท และจำเลยไม่คืนเครื่องวิทยุติดตามตัวให้โจทก์เพราะสูญหายไปเป็นค่าเสียหายจำนวน 3,690 บาท รวมเป็นเงิน 17,530 บาท จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า สัญญาการเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวข้อ 2.6 วรรคท้าย ที่ว่า อนึ่ง การระงับบริการอันเนื่องจากการผิดสัญญาของผู้เช่าเอง ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าระหว่างระงับบริการนั้น น่าจะหมายถึงการผิดสัญญาตามข้อ 2.2ซึ่งห้ามผู้เช่าดัดแปลง แก้ไข ต่อเติม หรือกระทำการใด ๆต่อเครื่องและอุปกรณ์วิทยุให้ผิดไปจากที่ผู้ให้เช่าจัดทำไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หาได้หมายถึงความผิดเพราะค้างค่าเช่าติดกัน 2 เดือนด้วย โจทก์จึงเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระได้เพียง2 เดือน และเมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าเช่ากว่า 2 เดือนแล้ว ถือได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาเลิกสัญญาโดยชัดแจ้งแล้วนั้นสัญญาการเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวข้อ 2.6 วรรคแรก ซึ่งระบุว่าผู้เช่ายินยอมให้ระงับการให้บริการและเรียกเครื่องวิทยุและอุทธรณ์คืนได้ทันทีเมื่อปรากฏว่า ผู้เช่าใช้บริการผิดไปจากเงื่อนไขในสัญญานี้ เห็นว่าเงื่อนไขในสัญญาเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวเอกสารหมาย จ.7 นอกจากจะมีเงื่อนไขในสัญญาข้อ 2.2 แล้ว ยังปรากฏเงื่อนไขในข้อ 2.4 ให้ผู้เช่าชำระค่าใช้บริการภายในวันที่ 10 ของเดือนทุกเดือนด้วย เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าใช้บริการจึงถือได้ว่าผู้เช่าผิดสัญญาเนื่องจากความผิดของผู้เช่าเช่าเดียวกันผู้เช่าจึงต้องชำระค่าเช่าระหว่างระงับบริการนั้นด้วยและตามสัญญาข้อ 2.5 ระบุว่าหากผู้เช่าไม่ประสงค์จะใช้บริการ ผู้เช่าไม่น้อยกว่า15 วัน ดังนั้น การที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าติดกัน 2 เดือนแต่มิได้บอกเลิกการเช่าเป็นลายลักษณ์อักษรจึงถือไม่ได้ว่าสัญญาการเช่าใช้บริการเลิกกันแล้วดังที่จำเลยฎีกาจำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่าสัญญาการเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวข้อ 2.5ที่ระบุว่า ถ้าครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าไม่บอกเลิกสัญญาให้ถือว่าผู้เช่าได้ตกลงเช่าต่อไปก็ดีและข้อ 2.6 ที่ระบุว่า อนึ่งการระงับบริการอันเนื่องจากการผิดสัญญาของผู้เช่าเอง ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าระหว่างระงับบริการนั้นก็ดี เป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบไม่ยุติธรรมนั้น เห็นว่า ข้อสัญญาทั้งสองข้อหาใช่เป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบไม่เป็นธรรมแก่จำเลยแต่ประการใดไม่เพราะเป็นเพียงกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาอันจะพึงปฏิบัติต่อกันเท่านั้น จำเลยเป็นฝ่ายเลือกใช้บริการ หากเห็นว่าข้อสัญญาของโจทก์เอาเปรียบก็เลือกใช้บริการที่อื่นได้ การที่จำเลยไม่ใช้บริการของโจทก์แต่ก็มิได้บอกเลิกสัญญานำเครื่องวิทยุติดตามตัวไปคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเครื่องวิทยุดังกล่าวไปให้ผู้อื่นเช่าต่อไปได้ ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ แล้วจะมิให้โจทก์เรียกค่าเช่าใช้บริการจากจำเลยได้อย่างไรข้อสัญญาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นธรรมหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share