คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันและพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกรรโชกจำเลยฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น ต้องเป็นผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ใช่ฐานกรรโชกดังโจทก์ฟ้อง ต้องยกฟ้องเพราะทางพิจารณาต่างกับฟ้อง แม้จำเลยจะไม่ได้ยกข้อกฎหมายที่ว่านี้ขึ้นในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ไม่ต้องห้ามฎีกา เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ผู้เสียหายถูกจำเลยขู่จนยอมรับจะให้เงินตามที่จำเลยข่มขืนใจเอาแล้ว ย่อมครบองค์แห่งความผิดฐานกรรโชกแล้วทุกประการ จำเลยจะได้รับเงินตามที่ผู้เสียหายรับปากให้แล้วหรือยัง หาใช่สาระขององค์ความผิดฐานนี้ไม่ และการที่จำเลยถูกตำรวจจับเสียก่อนที่จะได้รับเงินจากผู้เสียหาย ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยกลายเป็นอยู่ในขั้นพยายามกระทำผิดไปได้

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลอาญาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองมีมีดและเหล็กขูดช๊าบเป็นอาวุธไม่ขู่นายเต็กเถียวผู้เสียหายให้ยอมให้เงินแก่ จำเลยทั้งสองใช้สัก ๗,๐๐๐ บาท แล้วผู้เสียหายจะได้อยู่อย่างปลอดภัยไม่ต้องกลัวนักเลงรังแก ถ้าไม่ยอมให้เงินจำเลยจะทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิต นายเต็กเถี่ยวกลัว จึงยอมรับจะให้เงินแก่จำเลยทั้งสอง ๗,๐๐๐ บาท โดยขอผัด ๑ ชั่วโมง เพื่อหาเงินให้ครบจำนวน แล้วผู้เสียหายก็สั่งภริยาให้ไปหาเงินมาให้จำเลยทั้งสอง ภริยาผู้เสียหายก็ขึ้นไปชั้นบน ส่วนจำเลยทั้งสองคงยืนรออยู่ที่เดิม ภริยาผู้เสียหายขึ้นไปชั้นบนเพื่อจะเอาเงิน แต่เงินไม่พอ ภริยาผู้เสียหายเห็นเครื่องโทรศัพท์ ก็โทรศัพท์แจ้งเหตุไปยังสถานีตำรวจ ขอให้ตำรวจรีบมาที่บ้าน พวกตำรวจจึงพากันรีบรุดมาและจับจำเลยไว้ได้ทั้งคู่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานสมคบกันกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ (๑) (๒) ให้จำคุกจำเลยคนละ ๓ ปี ของกลางริบ
จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ฟังต้องกันเป็นยุติแล้วนั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ หาเป็นความผิดฐานกรรโชคตามฟ้องไม่ ข้อเท็จจริงจึงแตกต่างกับที่โจทก์กล่าวในฟ้องและเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ชอบที่ศาลจะยกฟ้องของโจทก์เสีย ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง แม้จะถือว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกรรโชก ก็อยู่ในชั้นพยายามเท่านั้น ยังหาเป็นความผิดสำเร็จไม่คดีนี้ คู่ความจะฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น โจทก์แก้ฎีกาค้านว่า ข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาขึ้นมานั้น มิได้ยกขึ้นมาว่ากันในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยผู้ฎีกาหรือศาลชอบที่จะยกขึ้นอ้างได้ ไม่ต้องห้ามกฎหมายดังที่โจทก์คัดค้านขึ้นมา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น การกระทำของจำเลยความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ และต้องถือว่าเป็นความผิดสำเร็จหรือบรรลุผลแล้วด้วย เพราะผู้เสียหายถูกจำเลยขู่จนยอมรับจะให้เงินที่จำเลยข่มขืนใจเอาแล้ว ย่อมครบองค์แห่งความผิดฐานกรรโชกแล้วทุกประการ จำเลยจะได้รับเงินตามที่ผู้เสียหายรับปากให้แล้วหรือยัง หาใช่สาระขององค์ความผิดฐาน การที่จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับเสียก่อนที่จะได้รับเงินจากผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการ ให้การกระทำของจำเลยอยู่ในชั้นพยายามกระทำความผิดไปได้
ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share