แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใด และต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การว่า ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 ยกเว้นความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยเพิ่มเติมคำให้การได้ทั้งได้ยกขึ้นวินิจฉัยในคำพิพากษาด้วย ฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรกและจำเลยยกข้ออ้างดังกล่าวโต้แย้งเป็นอุทธรณ์ด้วยศาลอุทธรณ์จึงยกขึ้นวินิจฉัยได้ กรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7 ระบุว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ซึ่งหมายความรวมถึงการที่โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ด้วย ฉะนั้น โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ จากจำเลยผู้รับประกันภัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์รถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-9759 สระบุรี ซึ่งประกันภัยไว้แก่จำเลย โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2533 ได้มีรถยนต์หมายเลขทะเบียน 85-8806 กรุงเทพมหานครซึ่งประกันภัยไว้แก่จำเลยเช่นเดียวกัน ขับมาด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนรถยนต์คันที่โจทก์ที่ 1 ครอบครองได้รับความเสียหายจำเลยตกลงชำระค่าซ่อมแซมและได้นำไปซ่อมแซมที่อู่ของโจทก์ที่ 2แต่เมื่อซ่อมเสร็จแล้ว จำเลยมิได้ชำระค่าซ่อมแซมให้โจทก์ที่ 2 จึงใช้สิทธิยึดหน่วงรถยนต์คันดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 1ได้นำเงินค่าซ่อมแซมชำระแก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้และโจทก์ที่ 1 ได้นำรถยนต์ไปขายให้แก่ผู้อื่นไปแล้วขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน840,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน840,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินเดือนละ 40,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ที่ 2 คืนในวันที่ 8 ธันวาคม 2536 ให้จำเลยชำระค่าอะไหล่รถค่าซ่อมแซมรถบางอย่างและค่าขนย้ายรถให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 80,649 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยชำระค่าซ่อมรถแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 187,303 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2536เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงิน ให้แก่โจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้นและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน103,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินจำนวน103,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยให้โจทก์ที่ 1 แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 754,800 บาท ค่าซื้ออะไหล่ และค่าลากรถจำนวน70,829 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และชำระค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 187,303 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับค่าซ่อมรถยนต์ ค่าอะไหล่ ค่าลากรถยนต์แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 80,647 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และชดใช้ค่าซ่อมแซมรถยนต์ให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 187,303 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2536จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยชำระค่าวิทยุและค่าเสียหายเนื่องจากไม่ซ่อมแซมรถยนต์ให้โจทก์ทั้งสองอยู่ในสภาพดีเป็นเงิน 102,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ฎีกาข้อเดียวว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เดือนละ 40,000 บาท จะนำข้อยกเว้นความรับผิดในสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.5 ข้อ 3.7.5มาบังคับคดีไม่ได้ เพราะคดีนี้จำเลยจงใจผิดสัญญา ไม่จัดการซ่อมรถยนต์พิพาทให้โจทก์ที่ 1 จำเลยจะอ้างข้อยกเว้นได้เฉพาะกรณีขาดการใช้รถยนต์เกิดจากวินาศภัยเท่านั้น ทั้งจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยไม่ชอบ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใด และต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การว่า ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 3.7.5 ยกเว้นความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยเพิ่มเติมคำให้การได้ ทั้งได้ยกขึ้นวินิจฉัยในคำพิพากษาด้วย ฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรกและจำเลยยกข้ออ้างดังกล่าวโต้แย้งเป็นอุทธรณ์ด้วยศาลอุทธรณ์จึงยกขึ้นวินิจฉัยได้ และปรากฏว่ากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.5 ข้อ 3.7 ระบุว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง 3.7.5 ความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ ซึ่งหมายความรวมถึงการที่โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์เช่นในคดีนี้ด้วยฉะนั้นโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลย
พิพากษายืน