แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาและได้มีคำขอในคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาให้ศาลสั่งคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวในฐานะผู้เสียหายมาด้วยแล้ว จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมในคดีนั้นซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ด้วย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์คดีนี้จึงมีฐานะเป็นคู่ความและต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวด้วย และแม้ว่าจำนวนทรัพย์ตามคำฟ้องในคดีอาญากับคดีนี้ไม่ตรงกัน กล่าวคือ ในคดีอาญาพนักงานอัยการขอให้จำเลยที่ 1 คืนเพชรพลอยเพียง 4 เม็ด แต่คดีนี้โจทก์ได้ขอให้จำเลยคืนเพชรเม็ดเล็กจำนวน 19 เม็ด เข้ามาด้วย ก็เป็นเพราะในคดีอาญาศาลฎีกาตำหนิพยานโจทก์ว่าจำนวนเพชรพลอยตามเอกสารหมาย จ. 9 ในคดีนั้นซึ่งมีจำนวน 23 เม็ด ไม่ตรงกับเพชรพลอยของกลางซึ่งมีเพียง 4 เม็ด ในคดีนี้โจทก์จึงได้รวมเพชรเม็ดเล็กจำนวน 19 เม็ด เข้ามาด้วย ก็เป็นเรื่องเดียวกันและโจทก์สามารถขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาในคดีอาญาได้อยู่แล้วเพราะเป็นโจทก์ร่วมในคดีนั้นด้วยแต่ไม่ขอ ดังนั้น การที่โจทก์รื้อร้องฟ้องคดีแพ่งเป็นคดีนี้เพื่อให้จำเลยที่ 1 คืนเพชรพลอยทั้ง 23 เม็ด หรือใช้เงินแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงต้อง ห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเพชรและพลอยรวม 23 เม็ด แก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ก็ขอให้ใช้เงินจำนวน 1,925,370 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,400,370 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแทน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เคยแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครใต้ข้อหายักยอก และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย โจทก์ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว ต่อมาศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10135/2535 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญาดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วทั้งทางแพ่งและทางอาญา โจทก์จะต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์จะรื้อฟื้นคดีแพ่งมาฟ้องอีกไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่โจทก์ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10135/2535 ของศาลแขวงพระนครใต้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้โจทก์จำเลยยังไม่เคยฟ้องร้องและศาลก็ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดมาก่อนว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พิพาทหรือไม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีส่วนแพ่งที่โจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ข้อหายักยอกดังกล่าว ศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วให้ยกฟ้องในคำขอของโจทก์ร่วมหรือโจทก์ในคดีนี้ที่ขอให้จำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ คู่ความคดีก่อนและหลังเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่กล่าวอ้างโดยอาศัยเหตุเดียวกัน คดีก่อน ถึงที่สุดแล้วและกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายแต่อย่างใด ฟ้องของโจทก์ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,500 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10135/2535 ของศาลแขวงพระนครใต้หรือไม่ นั้น เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10135/2535 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานยักยอกและโจทก์คดีนี้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยนั้น เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการมีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ 44 ในการพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 40 และ 47 กำหนดว่าต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. และกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งถ้าศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ แก่โจทก์ร่วม ป.วิ.อ. มาตรา 50 ให้ถือว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมีอำนาจบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 249 ดังนั้น การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาและได้มีคำขอในคดี ส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาให้ศาลสั่งคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายด้วยแล้ว จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ด้วย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเพชรพลอยของกลางไปจากโจทก์ร่วมจึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์คดีนี้จึงมีฐานะเป็นคู่ความและต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวด้วย และแม้ว่าจำนวนทรัพย์ตามคำฟ้องในคดีอาญากับคดีนี้ไม่ตรงกัน กล่าวคือ ในคดีอาญาพนักงานอัยการขอให้จำเลยที่ 1 คืนเพชรพลอยเพียง 4 เม็ด รวมเป็นเงินเพียง 1,398,090 บาท แต่คดีนี้โจทก์ได้ขอให้จำเลยคืนเพชรเม็ดเล็กจำนวน 19 เม็ด เข้ามาด้วย ก็เป็นเพราะในคดีอาญาศาลฎีกาตำหนิพยานโจทก์ว่าจำนวน เพชรพลอยตามเอกสารหมาย จ. 9 ในคดีนั้นซึ่งมีจำนวน 23 เม็ด ไม่ตรงกับเพชรพลอยของกลางซึ่งมีเพียง 4 เม็ด ในคดีนี้โจทก์จึงได้รวมเพชรพลอยเม็ดเล็กจำนวน 19 เม็ด ซึ่งมีราคารวม 2,280 บาท เข้ามาด้วย ก็เป็นเรื่องเดียวกันและโจทก์สามารถขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาในคดีอาญาได้อยู่แล้วเพราะเป็นโจทก์ร่วมในคดีนั้นด้วยแต่ไม่ขอ ดังนั้น การที่โจทก์รื้อร้องฟ้องคดีแพ่งเป็นคดีนี้เพื่อให้จำเลยที่ 1 คืนเพชรพลอยทั้ง 23 เม็ด หรือใช้เงินแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น ศาลฎีกาไม่พ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 2 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.