คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2553/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยได้ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดก แล้วใช้พินัยกรรมปลอมของเจ้ามรดกที่ทำขึ้นโดยไม่ชอบไม่ถูกต้องตามกฎหมายไปทำการรับโอนมรดกที่ดินของเจ้ามรดก โดยมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ร่วมกันทำการปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกด้วยวิธีการอย่างไร เป็นการปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่บางส่วนตลอดจนไม่ได้ระบุวันเวลาที่ทำการปลอมอีกด้วย จึงเป็นคำฟ้อง ที่มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับ จำเลยในข้อหาปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายหมาดดี บุตรหง้า เจ้ามรดก กับนางหยำบุตรหง้า เป็นสามีภริยากัน มีบุตร 7 คน คือ นางเหมี้ย บุตรหง้าโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2และนางแดง บุตรหง้า ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรของนางเหมี้ยเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2517 มีทรัพย์สินเป็นที่ดิน 5 แปลง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 61 เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวาที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 26, 27, 28 และ 111 เนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 19 1/10 ตารางวา,11 ไร่ 10 6/10 ตารางวา, 5 ไร่ 93 6/10 ตารางวา และ16 ไร่ 2 งาน 98 1/10 ตารางวาตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 7594, 7595, 8359 และ 15788 หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกแล้วใช้พินัยกรรมปลอมดังกล่าวไปรับโอนมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 61 มาเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินและขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 7594, 7595และ 8359 เป็นของจำเลยที่ 1 และโฉนดที่ดินเลขที่ 15788เป็นของจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองขับไล่โจทก์ทั้งสี่มิให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว แล้วแบ่งแยกที่ดินขายให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดก และปลอมพินัยกรรม จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกโจทก์ทั้งสี่บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 61 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7594, 7595, 8359และ 15788 เพิกถอนการโอนทรัพย์มรดกบางส่วนของจำเลยทั้งสองแล้วนำมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ประมูลหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วนและกำจัดมิให้จำเลยทั้งสองได้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานฉ้อฉลและปิดบังทรัพย์มรดก
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 61 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7594, 7595 และ 8359 ทั้ง 4 แปลง โดยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปีแล้ว โจทก์ทั้งสี่ไม่เคยมายุ่งเกี่ยวในที่ดิน ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความ โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกแต่ไม่บรรยายว่าปลอมโดยวิธีใดหรือปลอมส่วนใด หรือทั้งฉบับจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านายหมาดดี บุตรหง้า เจ้ามรดก กับนางหยำ บุตรหง้าเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือนางเหมี้ย บุตรหง้าโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2และนางแดง บุตรหง้า ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรของนางเหมี้ยซึ่งได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว เจ้ามรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5 แปลง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 61 และที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 26, 27, 28 และ 111ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 7594, 7595, 8359 และ 15788ตามลำดับ เจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2517โดยได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 61 ให้แก่จำเลยที่ 1 และยกที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 26 และ 27 (ปัจจุบันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 7594 และ 7595) ให้แก่นางแดง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ประการแรกว่าฟ้องโจทก์ทั้งสี่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในข้อหาปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกแล้วใช้พินัยกรรมปลอมของเจ้ามรดกที่ทำขึ้นโดยไม่ชอบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไปทำการรับโอนมรดกที่ดินของเจ้ามรดกเท่านั้นโดยโจทก์ทั้งสี่มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำการปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกด้วยวิธีการอย่างไร เป็นการปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่บางส่วนตลอดจนไม่ได้ระบุวันเวลาที่ทำการปลอมอีกด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในข้อหาปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ประการต่อไปที่ว่าที่ดินทั้ง 5 แปลง ตามฟ้อง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่าเนื่องจากศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นพินัยกรรมปลอมนั้นเป็นฟ้องเคลือบคลุม ดังนั้นข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน 3 แปลง ที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 1 และนางแดง บุตรหง้า คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 61 และที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 26 และ 27 (ที่ดินโฉนดเลขที่ 7594 และ 7595) จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยอีกต่อไป คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 28 และ 111(ที่ดินโฉนดเลขที่ 8359 และ 15788) เพียง 2 แปลง เท่านั้นและศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวไม่เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก
พิพากษายืน

Share