คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3052/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ ต่อมาจำเลยได้ทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์กับโจทก์มีข้อความว่าตาม ที่จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ จำเลยตกลงโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์และโจทก์ตกลงรับโอนภายใต้เงื่อนไขบังคับก่อนว่า การโอนสิทธิการเช่ารายนี้จะบังเกิดผลสมบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน ในการโอนสิทธิการเช่ารายนี้เมื่อผู้รับโอนตีราคาสิทธิการเช่าตามราคาทรัพย์ในท้องตลาดตามนัยแห่ง มาตรา 656 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเวลาและสถานที่ส่งมอบแล้ว หากได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยยินยอมชำระหนี้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์จนครบ และปรากฏต่อมาว่าจำเลยผิดนัดชำระเงินกู้ตามสัญญา ดังนี้หนี้เงินกู้เดิมซึ่งเป็นหนี้ประธานมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น มิได้มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป เพราะเมื่อตีราคาสิทธิการเช่าตามราคาทรัพย์ในท้องตลาดตามนัยแห่งมาตรา 656 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเวลาและสถานที่ส่งมอบแล้ว หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยินยอมชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบ สัญญาโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ เพื่อให้โจทก์สามารถบังคับเอาชำระหนี้เงินกู้ได้เท่านั้น หาเป็นการแปลงหนี้ใหม่ไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถรับโอนสิทธิการเช่าตามสัญญาเนื่องจากจำเลยอ้างว่ายังมิได้ผิดสัญญา จำเลยก็ต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2520 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินและรับเงินกู้ไปจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาลำปาง ซึ่งเป็นธนาคารสาขาของโจทก์จำนวน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันที่ 27 ของเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 6,150 บาท หากผิดนัดงวดใดให้ถือว่าผิดนัดในจำนวนหนี้ทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับชำระหนี้จนครบถ้วน จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2521จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์อีก 40,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน มีข้อตกลงตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันอย่างเดียวกับการกู้ครั้งแรกจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์ตลอดมา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้145,229 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้กู้เงินโจทก์ตามฟ้อง แต่มิได้ผิดสัญญาจำนวนหนี้ที่ฟ้องไม่ถูกต้อง หนี้ตามฟ้องมีการแปลงหนี้ใหม่แล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่มีต่อกันแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 145,229 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1กู้เงินจากโจทก์และผิดนัดชำระหนี้เงินกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 145,229บาท และต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 138,705.47 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวโดยยอมตนเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่จะชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยรายนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเช่ากับโจทก์ตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้รายนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยินยอมโอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ตามที่ระบุในสัญญาให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินกู้แก่โจทก์ ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า สัญญาโอนสิทธิการเช่าท้ายคำให้การจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ สำหรับหนี้เงินกู้รายพิพาท เป็นเหตุให้หนี้เงินกู้รายพิพาทระงับไปแล้วหรือไม่ พิเคราะห์แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินรายพิพาทให้โจทก์ 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 27มิถุนายน 2520 ตามเอกสารหมาย จ.1 ฉบับที่สองลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2521ตามเอกสารหมาย จ.3 ตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวข้อ 9 มีข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยินยอมมอบสิทธิในสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นของนายฉอ้อน เปี่ยมมณี จำเลยที่ 2 (โดยจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1ทำนิติกรรมโอนได้) ให้โจทก์ผู้ให้กู้ไว้เป็นประกันจนกว่าผู้ให้กู้จะได้รับชำระหนี้ทั้งปวงเสร็จสิ้น ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2523 จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิการเช่าเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 ซึ่งตรงกับต้นฉบับเอกสารหมาย จ.10โดยจำเลยที่ 1 ได้สิทธิเป็นผู้เช่าโดยสมบูรณ์จากนายฉอ้อน เปี่ยมมณี จำเลยที่ 2แล้วตามสัญญาดังกล่าวข้อ 1 มีข้อความว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์เอกสารหมาย จ.1, จ.3 จำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์และโจทก์ตกลงรับโอนภายใต้เงื่อนไขบังคับก่อน กล่าวคือ การโอนสิทธิการเช่ารายนี้จะเกิดผลสมบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ ข้อ 2 มีข้อความว่า ในการโอนสิทธิการเช่ารายนี้เมื่อผู้รับโอนตีราคาสิทธิการเช่าตามราคาทรัพย์ในท้องตลาดตามนัยแห่งมาตรา 656 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเวลาและสถานที่ส่งมอบแล้ว หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมชำระหนี้ส่วนที่ขาดให้แก่ผู้รับโอนจนครบปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินกู้ตามสัญญาดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาโอนสิทธิการเช่ารายนี้เป็นเพียงหลักประกันแก่โจทก์เท่านั้น หนี้เงินกู้เดิมซึ่งเป็นหนี้ประธานมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น มิได้มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะทำให้หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแต่ประการใด เพราะแม้สัญญาโอนสิทธิการเช่าจะระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินกู้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยินยอมโอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ที่ระบุในสัญญาให้แก่โจทก์ แต่สัญญาโอนสิทธิการเช่าข้อ 2 ก็ระบุว่า ในการโอนสิทธิการเช่ารายนี้ เมื่อโจทก์ผู้รับโอนตีราคาสิทธิการเช่าตามราคาทรัพย์ในท้องตลาดตามนัยแห่งมาตรา 656 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเวลาและสถานที่ส่งมอบแล้ว หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ซึ่งรวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำเลยที่ 1 ผู้โอนตกลงยินยอมชำระหนี้ส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ผู้รับโอนจนครบ สัญญาโอนสิทธิการเช่าจึงเป็นเพียงหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้เพื่อให้โจทก์สามารถบังคับเอาชำระหนี้เงินกู้ได้ซึ่งหาทำให้กลายเป็นการแปลงหนี้ใหม่ไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถรับโอนสิทธิการเช่าตามสัญญาดังกล่าวแล้วได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 อ้างว่าตนยังมิได้ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยรายนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share