คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า การขับรถยนต์ ของโจทก์เป็นการขับรถโดยประมาทนั้น โจทก์เห็นว่ายังไม่ เข้าองค์ประกอบของหลักกฎหมายที่ถือเป็นความผิดฐานกระทำ โดยประมาท คดีนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ทราบว่าเสียงที่โจทก์ได้ยินเป็นเสียงดังมาจากเครื่องยนต์การที่เครื่องยนต์มีเสียงดังผิดปกติในระหว่างที่โจทก์ทำหน้าที่ พนักงานขับรถ แต่โจทก์มิได้หยุดรถเพื่อตรวจดู กลับขับรถต่อไป จนเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ดับและได้รับความเสียหายมากเช่นนี้ ถือว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เข้าใจว่าเสียงดังนั้นเป็นเสียงของตู้คอนเทนเนอร์ มิใช่เสียงที่ดังมาจากเครื่องยนต์ และอุทธรณ์ต่อไปว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลยมิได้โดยสารไปกับรถด้วย จึงมิอาจวินิจฉัยว่าเสียงที่ว่าโจทก์ได้ยินดังกล่าวเป็นเสียงดัง มาจากเครื่องยนต์ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟัง พยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ค่าเสียหายที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็น ลูกจ้างชำระแก่จำเลยภายในระยะที่กำหนดเป็นหนี้เงิน เมื่อโจทก์ ไม่ชำระหนี้แก่จำเลยภายในเวลาที่กำหนดถือว่าโจทก์ผิดนัด จำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในระหว่างเวลาผิดนัดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แม้หนี้ที่เกิดขึ้นของโจทก์ในคดีนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแต่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 12 ได้บัญญัติในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา 8 หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 10 ประกอบกับมาตรา 8 โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าวในเวลาที่กำหนด และมาตรา 13 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีระเบียบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดตามมาตรา 8และมาตรา 10 สามารถผ่อนชำระเงินที่จะต้องรับผิดนั้นได้โดยคำนึงถึงรายได้ ฐานะ ครอบครัวและความรับผิดชอบและพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วยเท่านั้น พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวหาได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในกรณีที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ ดังนั้น จึงนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องหนี้มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์นี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ต่อมาจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนและเห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท จึงมีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าซ่อมเป็นเงินจำนวน 58,870 บาทโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเครื่องยนต์เกิดชำรุดเพราะใช้งานบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นประจำทำให้เครื่องยนต์ทำงานเกินกำลัง โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบค่าซ่อมรถ จำเลยหักค่าจ้างโจทก์ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 9,615.15 บาท ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ชดใช้ค่าซ่อมจำนวน 58,870 บาท กับให้คืนเงินค่าจ้างที่หักไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยหักไว้จนกว่าจะชำระคืนแก่โจทก์ หากโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยขอให้เพิกถอนดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินค่าซ่อมดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ที่โจทก์อ้างว่าเครื่องยนต์ชำรุดเพราะเกิดจากการใช้งานบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นประจำ ทำให้เครื่องยนต์ต้องทำงานเกินกำลังและเสื่อมสภาพเร็วนั้นไม่เป็นความจริงจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีได้ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราต่ำสุดตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ วันเกิดเหตุโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือคลองเตย นำส่งปลายทางโรงงานอ้อมใหญ่ เมื่อส่งสินค้าเสร็จแล้วโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวมาถึงบริเวณสะพานแขวนพระรามเก้า เครื่องยนต์มีปัญหาและดับลง ต่อมาจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นว่าโจทก์มีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 58,870 บาท โจทก์อุทธรณ์ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และวินิจฉัยว่า ก่อนที่เครื่องยนต์จะดับและได้รับความเสียหาย เครื่องยนต์เสียงดังผิดปกติมาก่อนเป็นเวลานาน หากโจทก์ในฐานะพนักงานขับรถใช้ความระมัดระวังย่อมได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดังผิดปกติได้และโจทก์เป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างเครื่องยนต์ย่อมทราบว่าเสียงดังนั้นเป็นเสียงดังมาจากเครื่องยนต์ การที่เครื่องยนต์มีเสียงดังผิดปกติในระหว่างที่โจทก์ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถแต่มิได้หยุดรถเพื่อตรวจดู กลับขับรถต่อไปจนเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ดับและได้รับความเสียหายมากเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์กระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ โจทก์สามารถใช้ความระมัดระวังได้แต่ไม่ได้ใช้ตามสมควรถือได้ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยประมาทกรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งจำเลยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำว่า “ประมาท” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่หมายความว่า กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ดังนั้น ผู้กระทำโดยประมาทต้องรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นต้นเหตุของความประมาทก่อนแล้วฝืนหรือไม่ระมัดระวังจนเกิดเหตุขึ้น โจทก์เข้าใจว่าเสียงดังแก๊ก ๆ เป็นเสียงของตู้คอนเทนเนอร์ มิใช่เสียงของเครื่องยนต์ดัง โจทก์จึงมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด โจทก์จึงไม่มีเหตุที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเกี่ยวกับตัวเครื่องยนต์ ทั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลยก็มิได้โดยสารไปกับรถด้วยจึงมิอาจวินิจฉัยว่าเสียงดังแก๊ก ๆ เป็นเสียงดังของเครื่องยนต์ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การขับรถยนต์ของโจทก์เป็นการขับรถโดยประมาท จึงยังไม่เข้าองค์ประกอบของหลักกฎหมายที่ถือเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ทราบว่าเสียงดังนั้นเป็นเสียงดังมาจากเครื่องยนต์ การที่เครื่องยนต์มีเสียงดังผิดปกติในระหว่างที่โจทก์ทำหน้าที่พนักงานขับรถแต่มิได้หยุดรถเพื่อตรวจดู กลับขับรถต่อไปจนเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ดับและได้รับความเสียหายมากเช่นนี้ถือว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เข้าใจว่าเสียงดังนั้นเป็นเสียงของตู้คอนเทนเนอร์ มิใช่เสียงที่ดังมาจากเครื่องยนต์และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลยมิได้โดยสารไปกับรถด้วย จึงมิอาจวินิจฉัยว่า เสียงดังดังกล่าวเป็นเสียงดังมาจากเครื่องยนต์ นั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง และเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้มานั้นไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนี้ที่เกิดขึ้นของโจทก์เป็นหนี้ที่เกิดจากการทำงานให้นายจ้าง ซึ่งตามกฎหมายนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 อันเป็นกฎหมายที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเช่นจำเลยต้องบังคับใช้โดยตรงและตามมาตรา 12 และ 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ได้ทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานก็ไม่มีข้อตกลงให้นายจ้างเรียกร้องดอกเบี้ยหากลูกจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่นายจ้างนั้นเห็นว่า ค่าเสียหายที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ชำระแก่จำเลย จำนวน58,870 บาท ภายในระยะที่กำหนดนั้นเป็นหนี้เงิน เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้แก่จำเลยภายในเวลาที่กำหนดถือว่าโจทก์ผิดนัดจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในระหว่างเวลาผิดนัดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าตามมาตรา 12 และ 13แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539มิได้กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ได้นั้นเห็นว่า ตามมาตรา 12 ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา 8 หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 10ประกอบกับมาตรา 8 ให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าวในเวลาที่กำหนดและมาตรา 13 บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีระเบียบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดตามมาตรา 8 และมาตรา 10 สามารถผ่อนชำระเงินที่จะต้องรับผิดนั้นได้โดยคำนึงถึงรายได้ ฐานะครอบครัวและความรับผิดชอบ และพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย เมื่อพิจารณาบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวประกอบมาตรา 8 และมาตรา 10 แล้วตามพระราชบัญญัติฉบับนี้หาได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในกรณีที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องหนี้มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกระทำละเมิดต่อจำเลย และผิดนัดไม่ชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share