คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6095/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะมีเหตุขัดข้องทำให้ส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยไม่ได้อย่างไร โจทก์ก็จะเพิกเฉยไม่แจ้งเหตุและขออนุญาตขยายระยะเวลาเพื่อนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยหาได้ไม่ คำร้องของโจทก์ที่ยื่นขอส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็ไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ไม่อาจแจ้งเหตุและขออนุญาตขยายระยะเวลาเพื่อนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยไม่ได้ก่อนวันครบกำหนดดังกล่าว การที่โจทก์ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือได้ว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภริยาจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนให้จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอมโจทก์ฟ้องต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 6574/2532 ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ฟ้องจำเลยที่ 2บังคับให้โอนขายที่ดินตามสัญญาต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ต่อมาวันที่22 กันยายน 2532 จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าว ศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาตามยอมแล้ว โดยจำเลยที่ 2ต้องไปจดทะเบียนการโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
ระหว่างไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นคดีเรื่องเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่6574/2532 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(4)พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสองภายใน 7 วัน เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีรายงานต่อศาลว่าโจทก์ไม่มานำส่งสำเนาอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอส่งสำเนาอุทธรณ์โดยอ้างเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์ จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2532 แต่โจทก์มิได้ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยภายในกำหนด 7 วัน นับแต่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2532ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2533 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยโดยอ้างว่าได้ติดตามเพื่อนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยตามที่ศาลชั้นต้นสั่งแล้ว แต่มีเหตุขัดข้องเจ้าหน้าที่หาสำนวนไม่พบจึงนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยตามคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ได้ เห็นว่าแม้จะมีเหตุขัดข้องทำให้ส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยไม่ได้อย่างไรโจทก์ก็จะเพิกเฉยไม่แจ้งเหตุและขออนุญาตขยายระยะเวลาเพื่อนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยหาได้ไม่ตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 8 มกราคม2533 ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอย่างใดที่ทำให้โจทก์ไม่อาจแจ้งเหตุและขออนุญาตขยายระยะเวลาเพื่อนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยไม่ได้ก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลย การที่โจทก์ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือได้ว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือได้ว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ คำสั่งศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share