แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยทั้งสองตกลงรับเป็นนายหน้าเพื่อชี้ช่องให้โจทก์ทั้งสองได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขงในเขตจังหวัดอุทัยธานีแต่ผู้เดียว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ทั้งสองตกลงให้จำเลยทั้งสองเป็นนายหน้าติดต่อเพื่อให้โจทก์ทั้งสองได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขง และข้อความที่ว่าแต่ผู้เดียว ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเพื่อให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขงในเขตจังหวัดอุทัยธานีแต่ผู้เดียวนั่นเอง โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเพื่อให้โจทก์คนหนึ่งคนใดเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา คำฟ้องของโจทก์เช่นนี้จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสองฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 แม้โจทก์ที่ 2จะลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างจำเลยทั้งสองเป็นนายหน้าโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองได้จ่ายเงินค่านายหน้าบางส่วนให้แก่จำเลยทั้งสองล่วงหน้า ย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้ให้สัตยาบันยอมรับเอาสัญญาว่าจ้างนายหน้าดังกล่าวแล้ว สัญญานายหน้าย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1
กรณีที่จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 นั้น ต้องเป็นการที่บุคคลใดได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ คดีนี้ตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองรับเงินค่านายหน้าล่วงหน้าไว้จากโจทก์ตามสัญญานายหน้า จึงเป็นการรับเงินไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ เมื่อปรากฏต่อมาว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราได้ตามข้อตกลง และโจทก์ทั้งสองเรียกเงินค่านายหน้าที่จ่ายล่วงหน้าดังกล่าวคืนจึงเป็นเรื่องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญา มิใช่กรณีเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ จะนำเอาอายุความ1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับลาภมิควรได้มาใช้บังคับไม่ได้
การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้จำเลยคืนเงินค่านายหน้าที่จ่ายล่วงหน้า เพราะจำเลยผิดสัญญานายหน้าเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่คู่สัญญารับเป็นนายหน้ากับโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ อ. นั้น จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 รับเป็นนายหน้าให้แก่โจทก์โดยเป็นตัวแทนของ อ.หรือไม่จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นฎีกาว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ อ. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตกลงรับเป็นนายหน้า ชี้ช่องให้โจทก์ทั้งสองได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขงในเขตจังหวัดอุทัยธานีแต่ผู้เดียว และโจทก์ทั้งสองต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่จำเลยทั้งสองจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท หากจัดการเป็นนายหน้าให้ไม่ได้จำเลยทั้งสองตกลงคืนเงินค่านายหน้าและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้จ่ายเงินค่านายหน้ารวมจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองโดยผ่านนางอุไรรัตน์ อัมรานนท์ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถชี้ช่องให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราได้สำเร็จตามข้อตกลง จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดคืนเงินค่านายหน้าพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน ๘๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่าไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ทั้งสอง หากศาลฟังว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากับโจทก์ทั้งสองจริง สัญญาก็ไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีตราของบริษัทประทับ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะบรรยายฟ้องเป็นสองฝักสองฝ่ายไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองเป็นนายหน้าโจทก์ที่ ๑ หรือโจทก์ที่ ๒ โจทก์ฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๒๗๕,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ส่วนคดีเกี่ยวกับโจทก์ที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นเวลา ๕ ปี ย้อนขึ้นไปก่อนถึงวันฟ้องจำนวนหนึ่งกับดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จอีกจำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ที่ ๑นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ได้ว่าจ้างจำเลยทั้งสองเป็นนายหน้าติดต่อกับบุคคลที่ไม่ปรากฏนามในฟ้องเพื่อให้โจทก์คนหนึ่งคนใดเป็นตัวแทนค้าต่างสุราแม่โขงในเขตจังหวัดอุทัยธานีเป็นการไม่แน่ชัดไม่รู้ว่าโจทก์คนใดแน่ที่ทำสัญญากับจำเลยทั้งสองคนพร้อมกัน โดยอ้างสิทธิอย่างเดียวกัน ไม่รู้ว่าจะเอาโจทก์คนไหนกันแน่นั้น พิเคราะห์แล้ว ในคำฟ้องโจทก์ข้อ ๒ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองตกลงรับเป็นนายหน้าเพื่อชี้ช่อง แนะนำ และพาให้โจทก์ทั้งสองได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขงในเขตจังหวัดอุทัยธานีแต่ผู้เดียว ดังนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสองตกลงให้จำเลยทั้งสองเป็นนายหน้าติดต่อเพื่อให้โจทก์ทั้งสองได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขง โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเพื่อให้โจทก์คนหนึ่งคนใดเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราดังที่จำเลยที่ ๑ ฎีกา และข้อความที่ว่าแต่ผู้เดียวก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเพื่อให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราในเขตจังหวัดอุทัยธานีแต่เพียงผู้เดียวนั่นเอง คำฟ้องโจทก์ข้อนี้จึงได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า สัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ เป็นนายหน้าเกี่ยวกับโจทก์ที่ ๑ ไม่สมบูรณ์ เพราะทำในนามของบริษัทโจทก์ที่ ๑ แต่ไม่ได้ประทับตราของบริษัทโจทก์ที่ ๑ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ไม่ได้นั้น เห็นว่าตามหนังสือสัญญามีข้อความระบุไว้ชัดว่านายชัยสิทธิ์ อัศวพาคุณ โจทก์ที่ ๒ ทำสัญญาฉบับดังกล่าวในนามของบริษัทสหมิตรอุทัยธานี จำกัดโจทก์ที่ ๑ โดยโจทก์ที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า ต่อมาหลังจากทำสัญญาว่าจ้างนายหน้าแล้ว โจทก์ทั้งสองได้จ่ายเงินค่านายหน้าบางส่วนให้แก่จำเลยทั้งสองล่วงหน้า ดังนี้ แม้โจทก์ที่ ๒ จะลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ ๑ ก็ถือได้ว่าโจทก์ที่ ๑ ได้ให้สัตยาบันยอมรับเอาสัญญาว่าจ้างนายหน้าดังกล่าวแล้ว สัญญานายหน้าดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า สัญญานายหน้าไม่สมบูรณ์ โจทก์และจำเลยจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเหมือนกับไม่มีสัญญาต่อกัน จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิยึดถือเงินของโจทก์ไว้จึงถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งสองฐานลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ โจทก์ต้องฟ้องภายในกำหนด ๑ ปี ตามมาตรา ๔๑๙ โจทก์รู้ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นตัวแทนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้ คดีจึงขาดอายุความ๑ ปีนั้น เห็นว่า กรณีที่จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ นั้น ต้องเป็นการที่บุคคลใดได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบการที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองตกลงให้จำเลยทั้งสองเป็นนายหน้า และได้จ่ายเงินค่านายหน้าล่วงหน้าให้แก่จำเลยทั้งสองไปก่อนที่งานจะสำเร็จ ดังนี้เป็นกรณีจำเลยทั้งสองรับเงินค่านายหน้าล่วงหน้าไว้จากโจทก์ตามสัญญานายหน้า จึงเป็นการรับเงินไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ ต่อมาเมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราได้ตามที่ตกลงกัน โจทก์ทั้งสองจึงเรียกเงินค่านายหน้าที่จ่ายล่วงหน้าดังกล่าวคืน ดังนี้ เป็นเรื่องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญา มิใช่กรณีเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้จะนำเอาอายุความ ๑ ปี ตามมาตรา ๔๑๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับลาภมิควรได้มาใช้บังคับไม่ได้ และเห็นว่าการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้จำเลยคืนเงินค่านายหน้าที่จ่ายล่วงหน้าเพราะจำเลยผิดสัญญานายหน้าในกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่คู่สัญญารับเป็นนายหน้ากับโจทก์ เพราะจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของนางอุไรรัตน์นั้น ข้อนี้จำเลยที่ ๑ มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยที่ ๑ ให้การเพียงว่า เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๑ไม่เคยได้รับเงินค่านายหน้าอีก ๓๐๐,๐๐๐ บาท ที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายผ่านนางอุไรรัตน์อัมรานนท์ เท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ ๑ รับเป็นนายหน้าให้โจทก์โดยเป็นตัวแทนของนางอุไรรัตน์หรือไม่ จำเลยที่ ๑ จะยกขึ้นฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของนางอุไรรัตน์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๑ ไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ฎีกาจำเลยที่ ๑ ในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.