คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6094/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์มอบอำนาจให้ส.ทำสัญญาเช่าซื้อระบุว่าโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจสองคนขอมอบอำนาจให้ส.มีอำนาจทำการลงนามในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์และมีกรรมการผู้มีอำนาจสองคนตามที่ระบุชื่อไว้ข้างต้นลงลายมือชื่อท้ายหนังสือในฐานะผู้มอบอำนาจแม้จะมิได้มีตราบริษัทโจทก์ซึ่งตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้จะต้องประทับตราด้วยก็ตามแต่ก็ปรากฏว่าตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ฟ้องมีข้อความกล่าวชัดในตอนต้นว่าสัญญานี้ทำขึ้นระหว่างบริษัทส. (โจทก์)ผู้ให้เช่าซื้อกับร.(จำเลย)ผู้เช่าซื้อและท้ายสัญญาส.ก็ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและทั้งโจทก์และจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อตลอดมาเช่นนี้แสดงว่าส.ทำสัญญาเช่าซื้อในนามของโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจข้างต้นถือได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้ส.ทำสัญญาเช่าซื้อแทนและโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงใช้บังคับได้และโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญาโจทก์ก็ผ่อนผันให้และรับชำระเรื่อยมาโดยมิได้ทักท้วงพฤติการณ์แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไปดังนั้นการที่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่10ตามกำหนดในสัญญาจึงจะถือว่าจำเลยผิดนัดทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามข้อกำหนดในสัญญาข้อ8หาได้ไม่หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็ต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา387ก่อนแต่อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่5มีนาคม2534และไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งการยึดนั้นเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืนซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ของโจทก์ระหว่างวันที่28พฤศจิกายน2533จนถึงวันที่5มีนาคม2535ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่มีเพราะมิได้เป็นการเลิกสัญญาต่อกันโดยเหตุที่จำเลยผิดสัญญา กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเช่นนี้เนื่องจากการเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในการเช่าซื้อ โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวสุมลมาลย์ พนมไชย เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กาแลนท์ซิกม่าไปจากโจทก์ จำนวน 1 คัน ในราคา 361,920 บาทโดยตกลงชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 48 งวด เป็นเงินงวดละ 7,540 บาทเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 งวดต่อไปทุกวันที่28 ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ตั้งแต่ งวดที่ 10 ถือว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันตั้งแต่วันที่ 28พฤศจิกายน 2533 โดยโจทก์ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 5 มีนาคม 2534 โจทก์จึงติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากจำเลยที่ 1ไม่ดูแลบำรุงรักษาและไม่ระมัดระวังในการใช้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์นำออกขายได้ราคาเพียง 227,000 บาท จำเลยที่ 1จึงต้องชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือให้โจทก์เป็นเงิน 67,060 บาทและการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ นับแต่วันที่28 พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่โจทก์ติดตามยึดรถคืนได้เป็นเวลา 4 เดือน ทำให้โจทก์ขาดผลประโยชน์โดยโจทก์อาจนำรถออกให้เช่าได้เดือนละ 6,000 บาท แต่ขอคิดเพียงเดือนละ 4,000 บาทเป็นค่าเสียหายจำนวน 16,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน73,060 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน73,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้นางสาวสุมลมาลย์เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 มิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทเท่ากับโจทก์มิได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ คงมีแต่จำเลยที่ 1ลงชื่อเพียงฝ่ายเดียวสัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเพราะภายหลังทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1ไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดนัด แต่โจทก์ยังคงรับชำระค่างวดเรื่อยมา ถือว่าโจทก์สละประโยชน์จากเงื่อนเวลาแล้วหากโจทก์ประสงค์จะบอกเลิกสัญญาก็ต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ชำระเสียก่อนทั้งจะถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมเลิกสัญญาโดยปริยายเพราะโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปแล้วก็ไม่ได้เพราะพนักงานของโจทก์ไปยึดรถยนต์คืนโดยพลการ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน12,000 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ใช้บังคับได้หรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวสุมลมาลย์ พนมไชย ทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์มิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ตามข้อบังคับ ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีการมอบอำนาจให้ นางสาวสุมลมาลย์จึงไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้ทำเป็นหนังสือและเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ พิเคราะห์แล้วหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวสุมลมาลย์ ทำสัญญาเช่าซื้อระบุว่าโจทก์โดย กรรมการผู้มีอำนาจสองคน ขอมอบอำนาจให้นางสาวสุมลมาลย์มีอำนาจทำการลงนามในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์ และมีกรรมการผู้มีอำนาจสองคนตามที่ระบุชื่อไว้ข้างต้นลงลายมือชื่อท้ายหนังสือในฐานะผู้มอบอำนาจ แม้จะมิได้ตราบริษัทโจทก์ซึ่งตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้จะต้องประทับตราด้วยก็ตามแต่ก็ปรากฏว่าตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ฟ้องมีข้อความกล่าวชัดในตอนต้นว่า สัญญานี้ทำขึ้นระหว่างบริษัทสยามลิสซิ่ง จำกัด(โจทก์) ผู้ให้เช่าซื้อ กับนางราตรี แพรคล้าย (จำเลยที่ 1)ผู้เช่าซื้อ และท้ายสัญญานางสาวสุมลมาลย์ก็ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อตลอดมา เช่นนี้แสดงว่านางสาวสุมลมาลย์ทำสัญญาเช่าซื้อในนามของโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจข้างต้น ถือได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้นางสาวสุมลมาลย์ทำสัญญาเช่าซื้อแทนและโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงใช้บังคับได้และโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญาโจทก์ก็ผ่อนผันให้และรับชำระเรื่อยมาโดยมิได้ทักท้วง พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไปดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าซื้อในงวดที่ 10 ในวันที่28 พฤศจิกายน 2533 ตามกำหนดในสัญญาจึงจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามข้อกำหนดในสัญญาข้อ 8หาได้ไม่ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2534 และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งการยึดนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ของโจทก์ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่ 5 มีนาคม2534 ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่มีเพราะมิได้เป็นการเลิกสัญญาต่อกันโดยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซึ่งเห็นว่าการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์จำนวน 12,000 บาท นั้นเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 มากอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลส่วนประเด็นที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเช่นนี้มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share