คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือของโจทก์ผู้ให้สัญญาแต่ฝ่ายเดียวเพื่อรับทราบการลงโทษและทำทัณฑ์บนไว้ต่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เนื่องในการที่โจทก์ขับรถประมาทเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุและเกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นหนังสือตักเตือนของจำเลย การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่ออีกซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัย แต่ตามข้อบังคับของจำเลยมิได้ถือว่าเป็นความเสียหายร้ายแรง จำเลยจึงจะเลิกจ้างโจทก์และไม่จ่ายค่าชดเชย โดยมิได้มีการตักเตือนเป็นหนังสือก่อน หาได้ไม่
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 90 วันของค่าจ้างอัตราสุดท้าย จึงเท่ากับได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ได้ทำงานติดต่อกันถึงวันเลิกจ้างครบ 1 ปีฉะนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าอายุการทำงานของโจทก์ถึงวันเลิกจ้างไม่ครบ 1 ปีจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔ จำเลยสั่งพักงานโจทก์เพื่อสอบสวนกรณีรถโดยสารที่โจทก์ขับถูกชนได้รับความเสียหาย และต่อมาวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยกระทำผิดและถูกลงโทษภาคทัณฑ์มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อโจทก์กระทำผิดโดยขับรถประมาทเป็นเหตุให้รถเกิดเหตุชนกันขึ้นในครั้งหลังนี้อีก ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรง จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในเหตุที่เกิดขึ้นครั้งหลังนี้ทั้ง ๆ ที่โจทก์เคยถูกลงโทษภาคทัณฑ์มาแล้ว การกระทำของโจทก์เป็นการขัดคำสั่งของนายจ้าง และเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของงานให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่การกระทำผิดของโจทก์ไม่ถึงกับทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการกระทำของโจทก์เป็นลักษณะที่มีความผิดทางอาญาถือว่าเป็นความร้ายแรงตามข้อ ๔๗(๑) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย นั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การจึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้ออุทธรณ์อีกข้อหนึ่งของจำเลยที่ว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เท่ากับว่าฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและโจทก์เคยถูกภาคทัณฑ์มาก่อน เท่ากับจำเลยได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เห็นว่า การภาคทัณฑ์หรือการทำทัณฑ์บนกรณีที่โจทก์เคยขับรถประมาทเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุและเกิดความเสียหายแก่จำเลย ตามเอกสารที่จำเลยอ้างนั้น เป็นเพียงหนังสือของโจทก์ผู้ให้สัญญาแต่ฝ่ายเดียวเพื่อรับทราบการลงโทษ และการทำทัณฑ์บนเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นหนังสือตักเตือนของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะทำผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลย แต่ข้อบังคับดังกล่าวมิได้ถือว่าเป็นความเสียหายถึงร้ายแรง ฉะนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) ที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า อายุการทำงานของโจทก์ถึงวันเลิกจ้างไม่ครบ ๑ ปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย ๓๐ วันมิใช่ ๙๐ วัน นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ๙๐ วัน ของค่าจ้างอัตราสุดท้าย จึงเท่ากับได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ได้ทำงานติดต่อกันจนถึงวันเลิกจ้างครบ ๑ ปี ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๙๐ วัน ฉะนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าอายุการทำงานของโจทก์ถึงวันเลิกจ้างไม่ครบ ๑ ปี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share