แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลเพื่อให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวได้
โจทก์ขอจดทะเบียนการค้าคำว่า “JAVACAFE” ซึ่งสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของคำดังกล่าวนอกจากอักษรโรมันติดกัน 8 พยางค์แล้ว สำเนียงเรียกขานก็ถือเป็นสาระสำคัญด้วยเพราะสามารถทำให้ประชาชนทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของสินค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น คำว่า “JAVACAFE” สามารถแยกออกเป็น “JAVA”เรียกขานว่า “จาวา”หมายถึงชื่อเกาะในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนทั่วไปรู้จักดีว่าหมายถึงเกาะชวา ซึ่งประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ชื่อเมืองท่า จังหวัด… เกาะ เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (2) ดังนั้น “JAVA” หรือ”จาวา”จึงเป็นคำไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะส่วนคำว่า”CAFE”เรียกขานว่า”คาเฟ่” หมายถึงกาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก ถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเช่นเดียวกันแม้จะนำทั้งสองคำมาเขียนติดกันเป็น “JAVACAFE” เรียกขานว่า “จาวาคาเฟ่” และจะแปลไม่ได้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายให้คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงกาแฟที่มีแหล่งกำเนิดมาจากเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนั้น ตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกหรือเป็นคำหรือรวมกัน เสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง
การที่เครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาแล้วในหลายประเทศนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร และความเห็นของนายทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า”JAVACAFE” อ่านว่า จาวาคาเฟ่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ใช้สำหรับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งโจทก์ได้ผลิตและจำหน่ายในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียและในประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ โดยโจทก์ได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”JAVACAFE” ดังกล่าวไว้ในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียและในประเทศต่าง ๆ ต่อมาจำเลยที่ 2 มีคำสั่งแจ้งแก่โจทก์ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน กล่าวคือ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะและเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วด้วย อันได้แก่เครื่องหมายการค้าคำว่า “SINVINO JAVA TEA STRAIGHT” โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ได้มีคำวินิจฉัยที่ 2146/2542 ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของจำเลยที่ 2 ที่ไม่ให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เสีย โจทก์เห็นว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9เป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ที่สั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและขอให้จำเลยที่ 1 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 349897 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและไม่ใช่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อขอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 349897 ของโจทก์จำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลได้อีกทั้งการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาและมีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสุจริตและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่ พณ0703/7291 ที่ พณ 0703/1378 และที่ พณ 0703/1326 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่ 2146/2542 ที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ตามคำขอเลขที่ 349897 ของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 กับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 349897 ต่อไป
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย ประกอบกิจการค้าขายหลักเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม โดยโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” อ่านว่าจาวาคาเฟ่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ใช้สำหรับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มซึ่งโจทก์ได้ผลิตและจำหน่ายในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียและในประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ โดยโจทก์ได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียและในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายกิตติ ตู้จินดา เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานราชการ มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 กำหนดให้กรมจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น รวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2540 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 30รายการสินค้า กาแฟ เมล็ดต้นโกโก้ ธัญพืชที่สีแล้ว ธัญพืชที่ยังไม่ได้สี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกาแฟ และครีมที่ไม่มีส่วนผสมของนม ต่อกรมจำเลยที่ 1 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 เป็นคำขอเลขที่ 349897 ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม2541 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งแจ้งแก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กล่าวคือไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะคำว่า “JAVA” เป็นชื่อเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่คนไทยทั่วไปรู้จัก นับว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ขัดต่อมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนคำว่า “CAFE” แปลว่า กาแฟหรือภัตตาคารขนาดเล็ก นับว่าเป็นคำสามัญในการค้าขาย ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และยังมีคำสั่งแจ้งแก่โจทก์ด้วยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วด้วย อันได้แก่เครื่องหมายการค้าคำว่า “SINVINO JAVA TEASTRAIGHT” ตามทะเบียนเลขที่ 141983 เครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVA” ตามทะเบียนเลขที่ 140799 และเครื่องหมายการค้าคำว่า “JUMBO JAVA” ตามทะเบียนเลขที่154185 ตามคำสั่งนายทะเบียนลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เมื่อวันที่ 2กันยายน 2541 โดยโต้แย้งคำสั่งของจำเลยที่ 2 ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะและไม่เป็นการต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะรับจดทะเบียน ตลอดจนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งครั้นวันที่ 17 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือแจ้งแก่โจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ได้มีคำวินิจฉัยที่ 2146/2542 ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของจำเลยที่ 2 ที่ไม่ให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เสีย โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “JAVA” เป็นชื่อเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นับว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) และคำว่า “CAFE” แปลว่า กาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียนนับว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขาย ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ส่วนหลักฐานการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่โจทก์นำส่งเพื่อแสดงถึงลักษณะบ่งเฉพาะนั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะแสดงว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะ ส่วนประเด็นเรื่องเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ 141983 ทะเบียนเลขที่ 140799 และทะเบียนเลขที่ 154185คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่จำต้องพิจารณา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าเป็นข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงที่สุดตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 หรือไม่ เห็นว่าแม้ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”JAVACAFE” นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะจึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ เพราะคำว่า “JAVA” เป็นเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นับเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ และคำว่า “CAFE” แปลว่า กาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก นับว่าเป็นคำสามัญ นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ได้แก่เครื่องหมายการค้าคำว่า “SINVINO JAVA TEA STRAIGHT” และคำว่า “JAMBO JAVA” โจทก์อุทธรณ์คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์เห็นว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเคยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “JAVA”ประกอบอยู่ด้วยอย่างเช่นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถือว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณารับจดทะเบียนให้เป็นแนวเดียวกัน เป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ ทั้งการพิจารณาลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายังได้แยกคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ออกพิจารณาเป็นคำ ๆ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำ ๆ เดียว และเจตนาใช้เป็นคำ ๆ เดียวนอกจากนี้ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ส่งหลักฐานการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตประชาชนลาวนั้นยังไม่เพียงพอที่จะแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ก็ไม่ได้ให้เหตุผลแต่อย่างใด ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ากับขอให้จำเลยที่ 1 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป ดังนี้ เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องของโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยอ้างว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”JAVACAFE” นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และ
(3) ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว”
มาตรา 7 วรรคแรกบัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะได้แก่เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น”
และในวรรคสองบัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ…
(2) คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงและไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด…”
โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” เป็นอักษรโรมันในลักษณะของคำที่เขียนติดกัน และแปลความหมายตามพจนานุกรมไม่ได้ แต่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์นอกจากอักษรโรมันที่เขียนติดกันจำนวน8 พยางค์แล้ว สำเนียงเรียกขานก็ถือเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยเช่นเดียวกันเพราะสามารถทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่นคำว่า”JAVACAFE” แม้จะเขียนติดต่อเป็นคำเดียวกัน แต่คำว่า “JAVA” และ “CAFE” สามารถแยกออกจากกันได้และสามารถแปลความหมายตามพจนานุกรมได้ คำว่า “JAVA” เรียกขานว่า “จาวา” หมายถึง ชื่อเกาะในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียซึ่งประชาชนโดยทั่วไปรู้จักดีว่าหมายถึงเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียซึ่งตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) เรื่องการกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา 7วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ชื่อเมืองท่า จังหวัด อำเภอ ตำบล มณฑล เกาะ ภูเขา แม่น้ำทะเล หรือทะเลสาบที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา 7วรรคสอง (2) ดังนั้น คำว่า “JAVA” หรือ “จาวา” จึงเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะส่วนคำว่า “CAFE” เรียกขานว่า คาเฟ่ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง กาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก จึงถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเช่นเดียวกัน เมื่อนำคำ2 คำดังกล่าวมาเขียนติดกันเป็น “JAVACAFE” สำเนียงเรียกขานก็จะเป็น จาวาคาเฟ่จะเห็นได้ว่าทั้งตัวอักษรโรมันและสำเนียงเรียกขานยังคงเดิม และแม้จะแปลไม่ได้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่าหมายถึงกาแฟที่มีแหล่งกำเนิดจากเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย การที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีเพียงอักษรโรมันคำว่า “JAVACAFE” เป็นส่วนสาระสำคัญแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า กาแฟ เมล็ดต้นโกโก้ ธัญพืชที่สีแล้ว ธัญพืชที่ยังไม่ได้สี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกาแฟและครีมที่ไม่มีส่วนผสมของนมเมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2540 จึงเห็นได้ชัดว่าตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกเป็นคำหรือรวมกัน เสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้ เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนการที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเคยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำอักษรโรมันว่า “JAVA” อ่านว่า จาวา ร่วมกับคำอื่นมาแล้ว คือเครื่องหมายกาค้าคำว่า “SINVINOJAVA TEA STRAIGHT” ตามทะเบียนเลขที่ 141983 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 รายการสินค้า ชา และคำว่า “JUMBO JAVA” ตามทะเบียนเลขที่ 154185 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 รายการสินค้ากาแฟ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 นั้น แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 4(4) จะบัญญัติว่า “ท่านว่าสิ่งอันกล่าวต่อไปนี้เป็นสาระสำคัญต้องมีสิ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อยอยู่ในเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้
(4) คำเดียวหรือหลายคำอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงและตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ไม่เป็นชื่อในภูมิศาสตร์หรือนามสกุล” ก็ตามแต่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมิได้มีแต่คำว่า “JAVA” อันเป็นชื่อในภูมิศาสตร์ หรือคำว่า”TEA” ซึ่งเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีคำอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะประกอบอยู่ด้วย จึงอาจได้รับการจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจดทะเบียน นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมิได้มีแต่เพียงคำว่า “JAVA” ซึ่งเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักและมีคำว่า “CAFE” ซึ่งเป็นคำอันได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากาแฟโดยตรงอย่างเครื่องหมายการค้าคำว่า”JAVACAFE” ของโจทก์ซึ่งไม่อาจรับจดทะเบียนได้เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6(1) ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 และการที่โจทก์ส่งหลักฐานการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”JAVACAFE” ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ก็มิใช่หลักฐานแสดงการจำหน่ายแพร่หลายหรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ในประเทศไทยแล้วอันจะถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 สำหรับในกรณีที่เครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาแล้วในหลายประเทศก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไรและความเห็นของนายทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7วรรคสอง (2) และวรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534อันนายทะเบียนไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”JAVACAFE” ของโจทก์จึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งเก้าฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง