คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันครอบครองเงินของ ฮ. และเบียดบังยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไป การกระทำที่โจทก์กล่าวหานี้เกิดขึ้นขณะที่ ฮ. ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นการกระทำต่อ ฮ. เจ้าของทรัพย์ ฮ.จึงเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) และมีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3 (1) ประกอบมาตรา 2 (7) แม้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งให้ ฮ. เป็นผู้เสมือนคนไร้ความสามารถ แต่ ฮ. ยังสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เหมือนเช่นบุคคลทั่วไปได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้พิทักษ์ ประกอบกับ ฮ. มิได้ถูกจำเลยทั้งสี่ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ อันจะทำให้โจทก์ร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฮ. มีอำนาจจัดการแทนได้ตามมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งไม่ได้เป็นผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้และถือเท่ากับว่ายังไม่มีการสอบสวน ย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352, 354 และสั่งให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงิน 4,969,501 บาท แก่กองมรดกของนางฮวย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายฐิติวัจน์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางฮวย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท เป็นความผิดอันยอมความได้และพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง จำเลยที่ 2 เป็นหญิงอายุมากถึง 67 ปีแล้ว ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน 1,200,000 บาท แก่กองมรดกของนางฮวย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นน้องของนางฮวย จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับโจทก์ร่วมเป็นบุตรของนายไช่ฮวดกับนางฮวย เมื่อปี 2512 นายไช่ฮวดกับนางฮวยจดทะเบียนหย่ากัน ต่อมาปี 2523 นางฮวยจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ประมาณปี 2539 นางฮวยประสบอุบัติเหตุตกรถจักรยานยนต์ต้องผ่าตัดสมองแล้วเป็นอัมพาต ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้นางฮวยเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้พิทักษ์ร่วมกัน ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายทรัพย์สินของนางฮวยแทนเพื่อนำเงินไปชำระหนี้และเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33239 แขวงแสมดำ (บางขุนเทียน) บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 4 ในราคา 500,000 บาท ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6433, 6434 และ 6435 ให้แก่จำเลยที่ 4 ในราคา 2,500,000 บาท ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6436, 6437 และ 6438 ให้แก่บริษัทเอมรา จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการในราคา 2,500,000 บาท และขายสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุให้แก่นายปรีชา ในราคา 5,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,500,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ของนางฮวยตามคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2962/2539 ของศาลจังหวัดชลบุรี และคดีหมายเลขแดงที่ 5202/2539 ของศาลแพ่งธนบุรี เป็นเงินประมาณ 5,000,000 บาท แล้วนำเงินบางส่วนฝากเข้าบัญชีธนาคารออมสิน สาขาบางกรวย กับซื้อสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมค่าตกแต่งภายในประมาณ 600,000 บาท ใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับนางฮวย และจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อสลากออมสินจำนวน 1,000,000 บาทเศษ ในนามของจำเลยที่ 2 คนเดียว โดยมีการเบิกเงินออกจากบัญชีจำนวนเงิน 1,200,000 บาท ต่อมานางฮวย ถึงแก่ความตาย ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของนางฮวย ปรากฏว่า เงินฝากในธนาคารออมสิน สาขาบางกรวย เหลือเพียง 200,000 บาทเศษ โจทก์ร่วมเห็นว่า เงินในบัญชีเงินฝากขาดหายไป 4,900,000 บาทเศษ จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กระทำผิดก่อนวันที่นางฮวยถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ประกอบมาตรา 2 (7) กำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่จะมีอำนาจร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ เมื่อคดีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนก็ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามมาตรา 121 วรรคสอง และโจทก์จะมีอำนาจฟ้องก็ต่อเมื่อมีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนเช่นกันตามมาตรา 120 เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2540 เวลาใดไม่ปรากฏชัดถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 เวลาใดไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันครอบครองเงินที่ได้จากการขายที่ดินและขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุของนางฮวยและเบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวไป เมื่อนางฮวยถึงแก่ความตายวันที่ 20 มีนาคม 2546 การกระทำที่โจทก์กล่าวหาในขณะที่นางฮวยยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อนางฮวยผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ นางฮวยจึงเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) และมีอำนาจร้องทุกข์ได้ตามมาตรา 3 (1) ประกอบมาตรา 2 (7) แม้นางฮวยจะพิการเดินไม่ได้เพราะเป็นอัมพาตและศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ตาม แต่นางฮวยก็ยังสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เหมือนเช่นบุคคลทั่วไปได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้พิทักษ์ก่อนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับนางฮวยมิได้ถูกจำเลยทั้งสี่ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้อันจะทำให้โจทก์ร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของนางฮวยมีอำนาจจัดการแทนนางฮวยได้ตามมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งไม่ได้เป็นผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ 354 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัวตามมาตรา 356 จึงถือไม่ได้ว่า คดีนี้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวได้ และถือเท่ากับว่ายังไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 ส่วนคำฟ้องที่กล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดหลังวันที่นางฮวยถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อสลากออมสินจำนวน 1,000,000 บาท เศษ ในนามของจำเลยที่ 2 คนเดียวโดยมีการเบิกเงินออกจากบัญชี จำนวนเงิน 1,200,000 บาท เห็นว่า การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นความผิดสำเร็จก่อนนางฮวยถึงแก่ความตายถึง 4 ปีเศษ การที่โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของนางฮวยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี โจทก์ร่วมอ้างว่าเพิ่งทราบและมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำต่อเนื่องกันจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหาย กรณีจึงถือไม่ได้ว่า คดีนี้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวได้ ถือเท่ากับว่ายังไม่ได้มีการสอบสวน ย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมา จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้ยกฟ้องโจทก์

Share