คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานผลิตเครื่องมือประมงฯกับจำเลย เอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.9 ได้ระบุแยกกรณีการขึ้นค่าจ้างกับกรณีการปรับคนงานรายวันเป็นรายเดือนโดยมีเงื่อนไขกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งการปรับลูกจ้างรายวันเป็นรายเดือนมีผลเพียงทำให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามที่ลูกจ้างรายเดือนมีสิทธิได้รับ ไม่มีข้อความที่ทำให้เข้าใจได้ว่าสหภาพแรงงานผลิตเครื่องมือประมงฯ หรือจำเลยประสงค์ให้เป็นการปรับขึ้นค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ไปด้วย แม้หากนำเงินเดือนหารด้วย 30 เป็นค่าจ้างต่อวัน อัตราค่าจ้างต่อวันที่โจทก์ทั้งสามได้รับน้อยลงกว่าเดิม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ลูกจ้างรายวันแล้วและค่าจ้างรายเดือนที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับไม่น้อยไปกว่าค่าจ้างรายวันที่โจทก์ทั้งสามเคยมีสิทธิได้รับรวมทั้งเดือน ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จำเลยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีค่าจ้างและค่าชดเชยที่จำเลยค้างจ่ายดังที่โจทก์ทั้งสามอ้าง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกนางวันทนาว่า โจทก์ที่ 1 เรียกนางลำใยว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกนางกิ่งแก้วว่า โจทก์ที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาและบังคับจำเลยดังนี้ ข้อ 1. ขอศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ 82/2547 เรื่อง ค่าจ้าง ค่าชดเชย สั่ง ณ วันที่ 27 เมษายน 2547 โดยให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 30,325.54 บาท แต่โจทก์ที่ 1 ขอคิดเพียงจำนวนเงิน 28,127 บาท และค่าชดเชยค้างจ่ายอีกเป็นเงิน 15,804.61 บาท ข้อ 2. ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของค่าจ้างค้างจ่ายตามข้อ 1. นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,980 บาท และให้จ่ายดอกเบี้ยของค่าจ้างค้างจ่ายอีกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 28,127 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ข้อ 3. ให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มของค่าจ้างค้างจ่ายนับตั้งแต่ค่าจ้างประจำเดือนมีนาคม 2545 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 311,803 บาท และให้จ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วันนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ข้อ 4. ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยค้างจ่ายในจำนวนส่วนที่เกินจากค่าชดเชยตามข้อ 1. เป็นเงินจำนวน 16,696.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยของค่าชดเชยค้างจ่ายนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,163 บาท พร้อมทั้งให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชยค้างจ่ายจำนวน 32,500 บาท (ค่าชดเชยในข้อ 1. และข้อ 2. รวมกัน) นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มกับจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ยังจ่ายไม่ครบพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 274,182 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 26,729 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของต้นเงิน 26,729 บาท ทุกระยะเวลา 7 วัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินค่าชดเชยค้างจ่าย 31,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มกับจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ยังจ่ายไม่ครบพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 281,713 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 26,265 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 26,265 บาท ทุกระยะเวลา 7 วัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินค่าชดเชยค้างจ่าย 32,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยจากจำเลยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 82/2547 แล้ว และโจทก์ที่ 1 ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยดังกล่าวตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1. ข้อ 2. และข้อ 4. คงติดใจเรียกร้องเฉพาะเงินเพิ่มค่าจ้างค้างจ่ายตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 3. เท่านั้น
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามมีว่า ในการปรับโจทก์ทั้งสามจากลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือนตามข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานผลิตเครื่องมือประมงแห่งประเทศไทยกับบริษัทไทยไนลอน จำกัด เอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.9 (ซึ่งมีข้อความเหมือนกัน) จะต้องนำอัตราค่าจ้างรายวันคูณด้วย 30 เพื่อให้เป็นค่าจ้างรายเดือนใช่หรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานผลิตเครื่องมือประมงแห่งประเทศไทยกับบริษัทไทยไนลอน จำกัด เอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.9 ได้แยกกรณีการขึ้นค่าแรงซึ่งก็คือค่าจ้างกับกรณีการปรับคนงานรายวันเป็นรายเดือนไว้คนละหัวข้อกันอย่างชัดเจนโดยกำหนดเงื่อนไขกรณีการขึ้นค่าแรงกับกรณีการปรับคนงานรายวันเป็นรายเดือนแยกกันอย่างชัดเจนด้วย ไม่มีข้อความใดที่ทำให้เข้าใจไปได้ว่าในการปรับลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือนตามข้อตกลงดังกล่าว สหภาพแรงงานผลิตเครื่องมือประมงแห่งประเทศไทยหรือจำเลยมีความประสงค์จะให้เป็นการปรับขึ้นค่าแรงหรือรายได้ที่ลูกจ้างได้รับอยู่ไปในตัวด้วย ดังนั้น ในการปรับลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือนตามข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลเพียงทำให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามที่ลูกจ้างรายเดือนของจำเลยพึงมีสิทธิได้รับเป็นต้นว่ามีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลากิจ ซึ่งลูกจ้างรายวันไม่มีสิทธิได้รับเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการตกลงขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายวันที่ปรับเป็นลูกจ้างรายเดือนด้วย เพราะหากสหภาพแรงงานผลิตเครื่องมือประมงแห่งประเทศไทยหรือจำเลยมีความประสงค์เช่นนั้นก็น่าจะต้องระบุให้การปรับค่าจ้างจากลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือนโดยใช้วิธีนำค่าจ้างรายวันคูณด้วย 30 และถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างหนึ่งลงไว้ในบันทึกข้อตกลงด้วย ดังนั้นในการปรับลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือน หากค่าจ้างรายเดือนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับมิได้น้อยไปกว่าค่าจ้างรายวันรวมทั้งเดือนที่ลูกจ้างนั้นเคยมีสิทธิได้รับก็มิใช่เรื่องที่จำเลยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ส่วนที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าหากนำเงินเดือนหารด้วย 30 เป็นค่าจ้างต่อวัน อัตราค่าจ้างต่อวันย่อมน้อยลงกว่าเดิมเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามได้ปรับเป็นลูกจ้างรายเดือนแล้วการพิจารณาถึงรายได้ของโจทก์ทั้งสามก็ต้องพิจารณาจากค่าจ้างรวมทั้งเดือน เมื่อค่าจ้างรวมทั้งเดือนมิได้ลดน้อยลงกว่าเดิมหรือต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายย่อมมิใช่เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะนำเอารายได้ต่อเดือนหารด้วย 30 เพื่อให้เป็นอัตราค่าจ้างต่อวันและอ้างว่าอัตราค่าจ้างต่อวันลดลงไม่ได้เพราะโจทก์ทั้งสามมิได้เป็นลูกจ้างรายวันอีกต่อไปแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ตกลงปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีค่าจ้างที่จำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสามทั้งไม่มีค่าชดเชยค้างจ่ายดังที่โจทก์ทั้งสามอ้างด้วย ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share