คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6078/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้จึงไม่มีหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ผู้สลักหลังอาวัลผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 อำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้และฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,003,287 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมชำระเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายสมชาย ที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในศาลชั้นต้น และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติ นายสมชายบิดาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และจำเลยที่ 1 มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังในเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดพลู ลงวันที่ 28 มีนาคม 2541 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นเช็คพิพาท ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2540 นายสมชายถึงแก่กรรม โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นทายาทโดยธรรม โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย อ้างว่านายสมชายถึงแก่กรรม ตามใบคืนเช็ค มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องร่วมกันชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่านั้น ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทมาแลกเงินไปจากโจทก์ ตามบันทึกการรับเงินและเช็ค ส่วนจำเลยที่ 4 นำสืบว่า นายสมชายเล่นการพนันเป็นอาชีพ มักจะลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คโดยไม่กรอกวันที่และจำนวนเงินไว้ นายสมชายไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินจากโจทก์เพราะก่อนถึงแก่กรรมนายสมชายมีเงินฝากในธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 3,400,000 บาทเศษ ตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ส่วนโจทก์เป็นหนี้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาห้วยขวาง 2,600,000 บาทเศษ ตามบัญชีกระแสรายวัน และโจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินเป็นระยะเวลาประมาณ 10 เดือน นับแต่วันที่โจทก์อ้างว่า นายสมชายให้จำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินจากโจทก์ ผิดวิสัยโจทก์ซึ่งมีอาชีพเป็นนายทุนเงินกู้ โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1 สมยอมกันว่านายสมชายเป็นหนี้โจทก์ เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 4 และนางสาวปวีณ์ธร มารดาของจำเลยที่ 4 ได้รับมรดกของนายสมชาย เห็นว่า แม้โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันโดยมีจำเลยที่ 1 พยานจำเลยที่ 4 เบิกความเจือสมว่า จำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินจากโจทก์โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้กรอกข้อความและสลักหลังเช็คพิพาทกับรับเงิน 1,000,000 บาท จากโจทก์แล้วนำไปให้นายสมชาย และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกการรับเงินให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน ตามบันทึกการรับเงินและเช็ค ตามลำดับก็ตาม แต่กลับปรากฏตามเช็คพิพาทว่า จำเลยที่ 1 สลักหลังเช็คพิพาทใน หลังวันที่นายสมชายถึงแก่กรรม 11 วัน ประกอบกับโจทก์ทราบการถึงแก่กรรมของนายสมชายมาตั้งแต่ต้นเพราะจำเลยที่ 1 โทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบและโจทก์ยังไปร่วมงานศพนายสมชายที่วัดเวฬุราชิน ทั้งจำนวนเงินตามเช็คมีถึง 1,000,000 บาท แต่โจทก์ไม่ได้ให้นายสมชายหรือจำเลยที่ 1 นำหลักทรัพย์อื่นมาให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ เงินจำนวนที่โจทก์อ้างว่ามอบให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินที่โจทก์รวบรวมเก็บไว้ที่บ้านไม่ได้เบิกจากธนาคาร แต่โจทก์เป็นลูกหนี้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาห้วยขวาง 2,600,000 บาทเศษ โจทก์ไม่เคยทำธุรกิจร่วมกับนายสมชายและไม่ได้สนิทสนมกันและได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพื่อนกับโจทก์มาประมาณ 10 ปี นายสมชายรู้จักกับโจทก์ประมาณ 6 ถึง 7 ปี โดยอาศัยจำเลยที่ 1 แนะนำ พยานโจทก์เป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่า นายสมชายไม่ได้มอบให้จำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินจากโจทก์จริงตามฟ้อง หากแต่เป็นกรณีที่โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 4 อ้าง เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทจากกองมรดกของนายสมชาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกันชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้แล้วจึงไม่มีหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดแก่โจทก์เช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาท อำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้และฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share