คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12435/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การปิดประกาศสำเนาคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 วรรคสอง เจ้าพนักงานสามารถกระทำได้โดยปิดประกาศสำเนาคำสั่งหรือหนังสือแจ้งไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่ตั้งอาคารที่ทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน และให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารได้ทราบคำสั่งหรือหนังสือแจ้งนั้นเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว หาได้กำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจ ข้าราชการส่วนกลาง เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่เป็นพยานด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40, 41, 42, 65, 66 ทวิ, 67, 70 กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ระงับการดัดแปลงอาคารให้ปรับเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2544 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2544 รวม 42 วัน ไม่รวมวันเสาร์วันอาทิตย์ กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่ดัดแปลงให้ปรับเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2544 ถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงให้ปรับเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2545 ถึงวันฟ้อง และต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 42, 65 วรรคหนึ่ง, 66 ทวิ, 70 การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้ขออนุญาต ปรับ 30,000 บาท ความผิดดังกล่าวมีโทษปรับรายวันตามมาตรา 65 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงเพื่อการพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 30,000 บาท และปรับรายวัน วันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2545 จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง รวมปรับ 60,000 บาท และปรับรายวันวันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2545 จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย เจ้าพนักงานท้องถิ่นปิดคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างดัดแปลงรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร คำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารหรือบริเวณอาคาร และคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544 จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง แต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 ก่อนวันที่ปิดคำสั่งดังกล่าว เท่ากับจำเลยยังไม่ทราบคำสั่ง ทั้งตามคำสั่งดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความเกี่ยวกับอาคารพาณิชย์หรือเพื่อใช้ในการพาณิชยกรรม หนังสือร้องทุกข์ระบุเพียงจำเลยดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ขนาด 6 x 13.40 เมตร ขัดกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) หมวด 3 ข้อ 33 (1) ซึ่งกล่าวถึงอาคารอยู่อาศัยและอาคารที่อยู่อาศัยรวมต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร โดยไม่ได้ร้องทุกข์ถึงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยฐานนี้ การแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจ เป็นการขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นเรื่องให้ดำเนินคดีในข้อหาดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 21 อันเป็นความผิดสำเร็จในทันทีที่ลงมือดัดแปลงอาคาร ทั้งกฎหมายมิได้ให้สิทธิจำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เช่นเดียวกับการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง จำเลยดัดแปลงอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2544 เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 จึงมีผลตามกฎหมาย ทั้งความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาว่า การปิดคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ปรากฏว่ามีพยานในการปิดคำสั่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การปิดประกาศสำเนาคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 วรรคสอง เจ้าพนักงานสามารถกระทำได้โดยปิดประกาศสำเนาคำสั่งหรือหนังสือแจ้งไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่ตั้งอาคารที่ทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน และให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารได้ทราบคำสั่งหรือหนังสือแจ้งนั้นเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว หาได้กำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจ ข้าราชการส่วนกลาง เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ เป็นพยานด้วยไม่ เมื่อพิจารณาสำเนาคำสั่งระบุชื่อนายมานะ เป็นผู้ปิดคำสั่ง มีนายสมโภช และนายปัญญา นายช่างโยธา 4 ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพญาไท ลงลายมือชื่อเป็นพยาน อีกทั้งการปิดประกาศสำเนาคำสั่งได้กระทำโดยเปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารที่ก่อสร้างแล้ว ดังนั้น การปิดประกาศสำเนาคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดค่าปรับและการลงโทษปรับรายวันย่อมลงโทษปรับได้เฉพาะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับและค่าปรับรายวันเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลงโทษปรับให้น้อยลงอีก ส่วนค่าปรับรายวันฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารนับตั้งแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่ง (วันที่ 23 ธันวาคม 2545) จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง หาใช่เป็นการลงโทษปรับฐานดัดแปลงอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมโดยไม่ได้ขออนุญาต อันจะลงโทษปรับรายวันได้เฉพาะในช่วงที่ก่อสร้างอาคารดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share