คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5506/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518เป็นกรณีต่อเนื่องมาจากมาตรา 19 ซึ่งเป็นเรื่องของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้องโดยให้มีผลผูกพันนายจ้างกับลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องหรือลูกจ้างที่มีส่วนในการเลือกผู้แทนผู้เข้าร่วมในการเจรจาข้อเรียกร้องนั้น และเห็นได้ว่าความในมาตรา 20 เป็นเรื่องห้ามนายจ้างมิให้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 และต่อมาตกลงกันได้ตามมาตรา 18 และ 22 เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากข้อเรียกร้องดังกล่าวมา กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 20 นายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จเสียใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานให้มีผลบังคับแตกต่างไปจากระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.1 ได้ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานระดับบริหารและได้ทำข้อตกลงให้ยกเลิกระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จสำหรับพนักงานระดับบริหารของบริษัทซึ่งมีผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ข้อตกลงดังกล่าวนี้จึงใช้บังคับได้และมีผลผูกพันโจทก์
ในปี 2522 บริษัท จ. และบริษัทในเครือออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.1 และการโอนย้ายโจทก์ระหว่างบริษัทในเครือของบริษัท จ.กำหนดให้นับอายุงานต่อเนื่องกันไปเสมือนได้ทำอยู่ในบริษัทเดียวกัน และคงให้สิทธิต่าง ๆ เช่นเดียวกัน และเมื่อโจทก์โอนมาเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5 ก็ได้ระบุไว้เช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงรับโอนโจทก์มาพร้อมสิทธิต่าง ๆ ของโจทก์ด้วย เมื่อโจทก์ยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องเงินบำเหน็จตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งใช้บังคับได้สิทธิของโจทก์มีเพียงใด จำเลยที่ 1 ก็คงรับโอนมาเพียงนั้น เอกสารหมาย ล.1จึงผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ด้วย

Share