คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยพาผู้เสียหายมากรุงเทพมหานครแล้วพาผู้เสียหายไปพักโรงแรมที่จำเลยทำหน้าที่เป็นแม่บ้านอยู่ประมาณ 3 เดือน จำเลยมิได้ชักนำผู้เสียหายไปค้าประเวณีในทันที ขณะจำเลยกระทำความผิดนั้น ผู้เสียหายมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก
แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่าสิบห้าปีโดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง และตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ อันเป็นบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาโดยชัดแจ้ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กหญิง น. ผู้เสียหาย อายุ 14 ปีเศษไปจากนายบรรจงบิดา เพื่อการอนาจาร และเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาล่อไป หรือชักพาไปซึ่งผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ ด้วยการพาไปที่ท้องสนามหลวงโรงแรมศิริพงษ์ โรงแรม 39โรงแรมเวียงสำราญและโรงแรมยูเนียน หลายครั้งโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายให้ถึงแก่ชีวิต ข่มขืนใจผู้เสียหายให้ค้าประเวณีกับผู้อื่น จนผู้เสียหายยินยอมจำเลยอายุกว่า 16 ปี ไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับการดำรงชีพและอยู่ร่วมกับผู้เสียหายซึ่งค้าประเวณีที่โรงแรมจูนอพาร์ตเมนต์ และโรงแรมอื่น ๆ รับเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นจากรายได้ของผู้เสียหายซึ่งค้าประเวณี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 283, 284, 286, 309, 317 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 4, 9, 12

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283วรรคสาม, 284 วรรคแรก, 286, 309, 317 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 กระทงแรกฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร วางโทษจำคุก 12 ปีกระทงที่สองและกระทงที่สาม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท กระทงที่สองลงโทษฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเป็นบทหนัก วางโทษจำคุก 15 ปี กระทงที่สามฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี วางโทษจำคุก12 ปี กระทงที่สองจำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุก 10 ปี รวมลงโทษจำคุก 34 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เด็กหญิง น. ผู้เสียหายเป็นบุตรนายบรรจงและนางบุญมี เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525 เมื่อต้นปี 2540นางบุญมีถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายได้พักอาศัยอยู่กับนายบรรจงที่บ้านพักจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2540 จำเลยพาผู้เสียหายออกจากบ้านพักไปอยู่ที่กรุงเทพมหานครต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2542 ผู้เสียหายและนายเปลี่ยน แดงหวาน เจ้าหน้าที่กองคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กได้เข้าแจ้งความต่อร้อยตำรวจโทสวัสดิ์ ภักดี เจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนว่า จำเลยได้พาตัวผู้เสียหายไปค้าประเวณีที่บริเวณสนามหลวงและได้นำร้อยตำรวจโทสวัสดิ์ไปจับกุมจำเลยคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2540 จำเลยเป็นผู้พาผู้เสียหายออกจากบ้านไปอยู่กับจำเลยที่กรุงเทพมหานคร และโจทก์มีนายบรรจงบิดาผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความยืนยันประกอบว่า เมื่อนายบรรจงกลับจากทำงานมาถึงบ้านและทราบจากเพื่อนบ้านว่าจำเลยพาผู้เสียหายไปจากบ้านซึ่งนายบรรจงเข้าใจว่าจำเลยไปเที่ยวบ้านเพื่อน ต่อมาประมาณ 2 ถึง 3 วัน จำเลยได้โทรศัพท์มาบอกนายบรรจงว่าจำเลยไปพักอยู่แถวบางนาและจะให้ผู้เสียหายไปเลี้ยงเด็กและอีกประมาณครึ่งเดือนจะพาผู้เสียหายกลับบ้าน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยก็ไม่พาผู้เสียหายมาส่ง หลังจากนั้นจำเลยได้โทรศัพท์มาบอกว่าจะพาผู้เสียหายมาส่งอีกแต่ก็ไม่มาและไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย นายบรรจงจึงออกติดตามหาผู้เสียหายตามสถานทีที่จำเลยเคยไปพัก แต่ก็ไม่พบตามทางนำสืบของจำเลย จำเลยก็รับว่าจำเลยเป็นผู้พาผู้เสียหายมายังกรุงเทพมหานครโดยอ้างว่านายบรรจงบอกให้จำเลยพาผู้เสียหายมาด้วยเพื่อหางานทำ แต่ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวขัดกับที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนที่ว่าจำเลยพาผู้เสียหายมากรุงเทพมหานครโดยไม่ได้บอกนายบรรจง ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียหายแต่อย่างใด คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวจำเลยกล่าวอ้างเพียงว่า จำเลยอ่านหนังสือไม่ออกเจ้าพนักงานตำรวจนำเอากระดาษเปล่ามาให้ลงลายมือชื่อ จำเลยจึงพิมพ์ลายนิ้วมือโดยขณะนั้นยังไม่มีข้อความ เป็นการกล่าวอ้างแต่เพียงลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุน ทั้งพิเคราะห์ข้อความในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามีข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดซึ่งไม่น่าเชื่อว่าพนักงานสอบสวนจะเขียนขึ้นเองได้ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อถือจึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยประกอบเพื่อพิเคราะห์สอดส่องข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ ข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และคดียังได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหายว่า เมื่อจำเลยพาผู้เสียหายมายังกรุงเทพมหานครแล้ว จำเลยได้พาผู้เสียหายไปพักที่โรงแรมฮอลลีวู๊ดที่จำเลยทำหน้าที่เป็นแม่บ้านอยู่ประมาณ 3 เดือน จำเลยมิได้ชักนำผู้เสียหายไปค้าประเวณีในทันที และเมื่อไม่ได้ความตามคำเบิกความของจำเลยว่าจำเลยพาผู้เสียหายไปที่โรงแรมดังกล่าวเพราะเหตุสมควรประการใดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยได้พรากผู้เสียหายซึ่งขณะจำเลยกระทำความผิดวันที่ 12 สิงหาคม 2540 นั้น ผู้เสียหายมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากนายบรรจงผู้เป็นบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก เท่านั้น หาได้มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยชักพาผู้เสียหายไปค้าประเวณีโดยการบังคับข่มขืนใจผู้เสียหายนั้น โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อย้ายจากโรงแรมฮอลลีวู๊ดซึ่งจำเลยและผู้เสียหายพักอยู่ที่โรงแรมดังกล่าวประมาณ 3 เดือน มาพักที่โรงแรม 39 ใกล้กับสนามหลวงแล้วจำเลยได้พาผู้เสียหายไปเร่ค้าประเวณีโดยไปนั่งที่บริเวณสนามหลวง และจำเลยเป็นผู้ตกลงและเก็บเงินสินจ้างจากผู้ที่ต้องการร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า หลังจากทำงานที่โรงแรมฮอลลีวู๊ดแล้ว จำเลยได้รู้จักกับนายอู๊ดและต่อมาจำเลยได้ไปอยู่กินกับนายอู๊ดที่บ้านพักแถวบริเวณบางบอนโดยจำเลยได้พาผู้เสียหายไปอยู่ด้วย ต่อมาจำเลยมีเรื่องทะเลาะกับเพื่อบ้านและเกรงว่าจะถูกทำร้ายจึงได้มาพักอยู่ที่โรงแรมจูนอพาร์ตเมนต์ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณท่าพระจันทร์ที่นายอู๊ดประกอบอาชีพรับซื้อขายพระอยู่โดยผู้เสียหายก็ได้มากับจำเลยด้วย หลังจากนั้นผู้เสียหายได้ไปช่วยนางน้อยขายน้ำอ้อยที่สนามหลวงในเวลากลางคืน ต่อมาผู้เสียหายขอไปอยู่ที่บ้านนางน้อยจำเลยไม่ยินยอมผู้เสียหายไม่พอใจและออกจากที่พักไป จำเลยไปตามผู้เสียหาย แต่นางน้อยไม่ยอมให้ผู้เสียหายกลับและบอกว่าจะให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย ต่อมาก็มีเจ้าพนักงานตำรวจมาจับจำเลยขณะนั่งรอนายอู๊ดซื้อพระอยู่แถวเยาวราช ซึ่งแตกต่างขัดกับที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนที่ว่า หลังจากจำเลยพาผู้เสียหายไปอยู่ที่โรงแรมฮอลลีวู๊ดแล้วจำเลยและผู้เสียหายได้ไปเที่ยวที่สนามหลวงและผู้เสียหายบอกจำเลยว่าจะค้าประเวณีต่อมาจำเลยและผู้เสียหายได้ไปที่สนามหลวงและเมื่อมีผู้ต้องการร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็จะตกลงสินจ้างกับบุคคลผู้นั้นเองและเมื่อได้เงินสินจ้างแล้วผู้เสียหายจะนำเงินมาไว้ที่จำเลยก่อนแล้วจึงจะไปร่วมประเวณีกับผู้ที่มาติดต่อ เห็นว่าข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และตามคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวที่เจือสมกับคำเบิกความของผู้เสียหายนั้นกลับทำให้รูปคดีมีเหตุน่าเชื่อว่าในขณะที่จำเลยเป็นผู้ชักพาผู้เสียหายไปเร่ค้าประเวณีที่บริเวณสนามหลวงนั้น เป็นช่วงหลังจากผู้เสียหายออกจากบ้านมาแล้ว 3 เดือน จึงเป็นเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นผู้เสียหายจึงมีอายุเกินสิบห้าปีแล้ว แต่ที่ผู้เสียหายเบิกความด้วยว่าเหตุที่ผู้เสียหายออกไปเร่ค้าประเวณีเป็นเพราะถูกจำเลยบังคับขืนใจโดยจำเลยบอกว่าหากไม่ค้าประเวณีจะไม่พากลับบ้านและจะฆ่า และเมื่อได้เงินสินจ้างจากการค้าประเวณีในแต่ละครั้งจำเลยจะเป็นผู้เก็บไว้ไม่ให้ผู้เสียหาย และนอกจากจำเลยจะนำผู้เสียหายไปพักที่โรงแรม 39แล้ว จำเลยยังพาผู้เสียหายไปพักอยู่ที่โรงแรมอื่น เช่น โรงแรมยูเนี่ยน โรงแรมศิริพงษ์และโรงแรมจูนอพาร์ตเมนต์ เหตุที่ย้ายโรงแรมบ่อยเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าโรงแรมนั้นโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมาสนับสนุน คงมีเพียงคำเบิกความของผู้เสียหายที่กล่าวอ้างไว้ลอย ๆ เท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และเมื่อพิจารณาถึงบริเวณสนามหลวงที่จำเลยชักพาผู้เสียหายไปเร่ค้าประเวณีนั้น ก็เป็นที่สาธารณะมีผู้คนสัญจรผ่านไปมาพลุกพล่านหากผู้เสียหายไม่สมัครใจที่จะค้าประเวณีตามที่จำเลยขู่บังคับให้กระทำแล้ว ผู้เสียหายย่อมจะขัดขืนและขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่ผ่านไปมานั้นได้ แต่ผู้เสียหายก็หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะถูกจำเลยบังคับขืนใจให้ทำการค้าประเวณีดังที่ผู้เสียหายกล่าวอ้าง และคดีนี้แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยขู่เข็ญหรือใช้วิธีข่มขืนใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่าสิบห้าปีโดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอมเอง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ศาลก็มีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จำเลยจึงคงมีความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่าสิบห้าปี โดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง และตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคสอง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่จำเลยหาได้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม, 284 วรรคแรก, 309 วรรคแรกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคสามและวรรคสี่ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้บังคับขืนใจผู้เสียหายให้ค้าประเวณีแล้วเป็นผู้เก็บเงินสินจ้างจากการค้าประเวณีไว้ไม่ให้แก่ผู้เสียหาย และจำเลยพาผู้เสียหายไปพักตามโรงแรมต่าง ๆ หลายแห่งเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าโรงแรมดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นทั้งคดียังได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหายว่าในช่วงที่ผู้เสียหายพักอยู่กับจำเลยและทำการค้าประเวณี จำเลยมีสามีและช่วยสามีจำเลยซื้อขายพระ ซึ่งเจือสมกับข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ว่า นายอู๊ดสามีของจำเลยมีอาชีพรับซื้อขายพระและมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูจำเลยและผู้เสียหาย น่าเชื่อว่าจำเลยและสามีได้ประกอบอาชีพและมีรายได้จากการรับซื้อขายพระดังที่จำเลยกล่าวอ้างประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่ารายได้ของจำเลยดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพอีกด้วยแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยซึ่งมีอายุกว่าสิบห้าปีและไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับการดำรงชีพ ได้ร่วมกินอยู่หลับนอนกับผู้เสียหายซึ่งค้าประเวณีและรับเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นจากรายได้ของผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แม้ความผิดข้อหานี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในฎีกาโดยชัดแจ้ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบด้วย มาตรา 215 และมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282วรรคสอง, 317 วรรคแรก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีพ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรจำคุก9 ปี ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีโดยหญิงนั้นยินยอม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปีรวม 2 กระทง จำคุก 21 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 14 ปี ความผิดข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share