แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์มีคำขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หรือใช้ราคาแทนและให้ใช้ค่าใช้ทรัพย์ แต่คดีนี้แม้ฟ้องโจทก์จะอ้างมูลเหตุว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อเช่นเดียวกับคดีก่อน แต่โจทก์อ้างว่าหลังจากศาลพิพากษาแล้วโจทก์ได้ติดตามยึดรถยนต์คืนมาได้ต้องรถยนต์มีสภาพทรุดโทรม ขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าใช้จ่ายในการยึดรถและค่าเสื่อมราคารวมเป็นเงิน54,363 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว คำขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องคดีนี้จึงต่างจากคดีก่อน และมิใช่เป็นประเด็นที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งมิใช่กรณีที่จะไปว่ากล่าวชั้นบังคับคดีในคดีก่อนได้ เพราะการบังคับคดีในคดีก่อนจำต้องอาศัยคำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ใดบ้าง จึงไม่อาจนำมูลหนี้ตามฟ้องในคดีนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนไปบังคับคดีเอากับจำเลยในคดีก่อนได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 115,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์เดือนละ 1,356 บาท นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2538 จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17716/2539 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะค่าใช้ทรัพย์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 แต่ไม่เกิน 2 ปี 4 เดือน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 748/2540 คดีถึงที่สุด หลังจากนั้นโจทก์สามารถติดตามยึดรถยนต์ที่ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อคืนมาได้ ต้องเสียค่าใช้จ่าย 3,000 บาท และรถยนต์อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เมื่อนำรถยนต์ออกขายทอดตลาดได้ราคา 63,636.36 บาท ราคารถยนต์ยังขาดไปจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ใช้ราคาแทนอยู่อีก 51,363.64 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 51,363 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 54,363 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 54,363 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ฟ้องซ้ำกับคดีเดิม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17716/2539 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์ในสำนวนคดีแพ่งดังกล่าว โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ 1 คัน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่างวดเช่าซื้อตามสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 130,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้สอยรถยนต์ของโจทก์นับแต่วันผิดนัดจนกว่าส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หรือใช้ราคาแทนครบถ้วน พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การและไม่สืบพยานส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 115,000 บาท และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,356 บาท นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2538 จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้ทรัพย์เดือนละ 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 2 ปี 4 เดือน นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า ในคดีก่อนโจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หรือใช้ราคาแทนและให้ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์นับแต่วันผิดชำระค่าเช่าซื้อ แต่คดีนี้แม้ฟ้องโจทก์จะบรรยายอ้างมูลเหตุว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อเช่นเดียวกับคดีก่อน แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องอ้างว่า หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว โจทก์ได้ติดตามยึดรถยนต์จากจำเลยทั้งสองคืนมาได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถคืนไป 3,000 บาท และรถยนต์ที่ยึดกลับคืนมามีสภาพชำรุดทรุดโทรม โจทก์ขายทอดตลาดไปได้เงินมาจำนวน 63,636.36 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าใช้จ่ายในการยึดรถและค่าเสื่อมราคารวมเป็นเงิน 54,363 บาท พร้อมดอกเบี้ยดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ความเสียหายของโจทก์ตามฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว คำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องคดีนี้จึงต่างจากคำขอของโจทก์ให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย ในคดีก่อน และมิใช่เป็นประเด็นที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งมิใช่กรณีที่จะไปว่ากล่าวชั้นบังคับคดีในคดีก่อนได้ เพราะการบังคับคดีในคดีก่อนจำต้องอาศัยคำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ใดบ้าง จึงไม่อาจนำมูลหนี้ตามฟ้องในคดีนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนไปบังคับคดีเอากับจำเลยทั้งสองในคดีก่อนได้ ฉะนั้นฟ้องโจทก์คดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนแต่คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้มีการวินิจฉัยคดีตามลำดับชั้นศาลคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ตรงกับความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี