คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขอร้องให้โจทก์ยอมรับสมอ้างว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 โดยบอกว่าจะไม่ทำให้โจทก์เดือดร้อนและจะสนับสนุนโจทก์ให้สอบเพื่อรับใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ โจทก์ไม่รับปาก ต่อมาจำเลยที่ 1 บอกว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมกลับจะขอพบโจทก์ โจทก์จึงตัดสินใจยอมรับสมอ้างตามที่จำเลยที่ 1 ขอร้อง โจทก์ไปพบจำเลยที่ 2 แสดงตัวรับสมอ้างว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ไปบอก นาง ฉ. มารดาสามีโจทก์และ นาย ก. สามีโจทก์ว่าโจทก์เป็นชู้กับจำเลยที่ 1 โจทก์และนาย ก. ไปหาจำเลยทั้งสองที่บ้าน จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าเรื่องที่จำเลยที่ 2 พูดนั้นเป็นความจริง ถือได้ว่าโจทก์สมัครใจที่จะให้จำเลยที่ 1 พูดว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน โจทก์จึงมีส่วนสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 91, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำเนื่องจากถูกสอบถาม มิใช่ไปบอกกล่าวเอง ตลอดจนอายุ ประวัติ ความประพฤติและสิ่งแวดล้อมของจำเลยที่ 1 แล้ว ควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตัว จึงให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดและเป็นผู้มีส่วนในการก่อให้เกิดความผิด โจทก์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 ปรึกษาโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 จับได้ว่าจำเลยที่ 1 มีผู้หญิงอื่น จำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 2 ว่าเป็นโจทก์ ขอให้โจทก์ยอมรับสมอ้างว่าเป็นผู้หญิงคนนั้น โจทก์ไม่ยินยอม ต่อมาปลายเดือนสิงหาคม 2541 จำเลยที่ 2 ไปพบโจทก์ที่ทำงาน จำเลยที่ 1 ขอร้องให้โจทก์รับสมอ้างเป็นผู้หญิงคนนั้นอีก โดยบอกว่าจะไม่ทำให้โจทก์เดือดร้อนและจะสนับสนุนโจทก์ให้สอบเพื่อรับใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ โจทก์ไม่รับปาก ต่อมาจำเลยที่ 1 บอกว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมกลับจะขอพบโจทก์ โจทก์จึงตัดสินใจยอมรับว่าเป็นผู้หญิงคนดังกล่าว โจทก์ไปพบจำเลยที่ 2 แสดงตัวรับสมอ้างว่าเป็นหญิงที่มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ไปบอกนางเฉลียว มารดาสามีโจทก์ และนายกำพล สามีโจทก์ว่า โจทก์เป็นชู้กับจำเลยที่ 1 โจทก์และนายกำพลไปหาจำเลยทั้งสองที่บ้าน จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าเรื่องที่จำเลยที่ 2 พูดเป็นความจริง คำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมรับว่าโจทก์พูดกับจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไปพูดกับนางเฉลียวและนายกำพล และจำเลยที่ 1 ยังยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง ถือได้ว่าโจทก์สมัครใจที่จะให้จำเลยที่ 1 พูดว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน โจทก์จึงมีส่วนสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share