คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หากข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยไม่ใช่บุตรของนาง พ. ตราบใดที่แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรยังระบุว่า นาง พ. เป็นมารดาของจำเลย ย่อมเกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของนาง พ. เพราะจำเลยสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานดำเนินการในกิจการต่าง ๆ อันอาจทำให้สิทธิประโยชน์หรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองเปลี่ยนแปลงไป การกระทำตามคำฟ้องจึงเกิดการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยไม่ให้ใช้ชื่อนาง พ. เป็นมารดาของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่า จำเลยไม่ใช่บุตรสืบสายโลหิตที่แท้จริงของนางพันลอง มารดาโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงมิใช่พี่ร่วมมารดาเดียวกันกับโจทก์ทั้งสอง ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อนางพันลอง มารดาโจทก์ทั้งสองเป็นชื่อมารดา ให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนชื่อมารดาโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนราษฎร หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการแรกว่าการกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ฟ้องอ้างว่าจำเลยไม่ใช่บุตรของนางพันลอง มารดาของโจทก์ทั้งสอง นายลือ บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนชื่อมารดาไม่ให้ใช้ร่วมกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรสืบสายโลหิตแท้จริงของนางพันลองแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย เห็นว่า หากข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยไม่ใช่บุตรของนางพันลอง ตราบใดที่แบบรับรองรายการทะเบียนบ้านยังระบุว่านางพันลองเป็นมารดาของจำเลย ย่อมเกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองแล้ว เพราะจำเลยสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานดำเนินการในกิจการต่าง ๆ อันอาจทำให้สิทธิประโยชน์หรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองเปลี่ยนแปลงไป การกระทำตามคำฟ้องจึงเกิดโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่มีการโต้แย้งสิทธินั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปมีว่า จำเลยเป็นบุตรของนางพันลองหรือไม่ เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า แม้ตามหลักฐานใบสูติบัตร นางพันลองเองเป็นผู้ไปแจ้งการเกิดว่าจำเลยเป็นบุตรนายบุญศรี กับนางพันลอง และตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ระบุว่าจำเลยเป็นบุตรนายบุญศรีกับนางพันลองเช่นเดียวกัน แต่เมื่อนายบุญศรีฟ้องจำเลยขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยมิใช่บุตรเกิดจากการสมรสระหว่างนายบุญศรีกับนางพันลอง ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อนายบุญศรีเป็นบิดาและห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อสกุลมูลมาตรของนายบุญศรี จำเลยยื่นคำให้การในคดีดังกล่าวยืนยันว่าจำเลยเป็นบุตรนายบุญศรีกับนางพันลองมีสิทธิใส่ชื่อนายบุญศรีเป็นบิดาและใช้ชื่อสกุลมูลมาตรของนายบุญศรีได้ แต่เมื่อมีการตกลงท้าให้ผู้เชี่ยวชาญภาควิชานิติเวชศาสตร์ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของนายบุญศรีและจำเลยให้ถือเป็นข้อแพ้ชนะในคดี ซึ่งเป็นการตรวจพิสูจน์ตามหลักวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าได้ผลค่อนข้างแน่นอนแม่นยำเชื่อถือได้ จำเลยกลับไม่ยอมไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ทำการตรวจพิสูจน์ตามวันเวลานัด จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมิใช่บุตรเกิดจากการสมรสระหว่างนายบุญศรีกับนางพันลอง ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อนายบุญศรีเป็นบิดาและห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อสกุลมูลมาตรของนายบุญศรี คดีถึงที่สุดตามสำเนาคำพิพากษาและใบสำคัญแสดงคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งเป็นข้อพิรุธประการแรกส่อแสดงว่า ข้อมูลตามสูติบัตรและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของจำเลยไม่ถูกต้องตรงตามความจริง ในคดีที่จำเลยร้องขอให้ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของนางพันลองก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากนายบุญศรีกับนางพันลองจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2527 จนถึงวันที่นางพันลองถึงแก่ความตาย จำเลยมิได้พักอาศัยอยู่กับนางพันลอง คงเพียงแต่เคยไปเยี่ยมนางพันลองบ้างเป็นบางครั้ง ศาลจึงมีคำสั่งตั้งนายลือ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางพันลองเพียงผู้เดียว เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จำเลยก็ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาทั้งที่ทราบวันเวลานัดโดยชอบแล้ว ตามรายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดร้อยเอ็ดก็ปรากฏว่าจำเลยไม่ติดต่อให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติทำให้ไม่ได้ข้อเท็จจริงจากฝ่ายจำเลยเป็นพิรุธอีกเช่นกัน นอกจากนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายลือ นายทองใบ ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงเรียนบ้านงิ้วหว่านศึกษาด้วยกันกับนางพันลองและนายสมร คนบ้านงิ้วบ้านเดียวกับจำเลยว่า นายบุญศรีกับนางพันลองแต่งงานอยู่กินกันได้ประมาณ 3 เดือน จึงเลิกกันแล้วนางพันลองไปอยู่กินกับนางสาวอธิตยาหรือจุ๋มแล้วไปขอจำเลยซึ่งเป็นบุตรของนางจันทร์ บุตรพรม คนบ้านงิ้วเช่นกันมาเลี้ยงเป็นบุตร ทั้งนายสมรให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติไว้ในรายงานแสดงข้อเท็จจริงของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดร้อยเอ็ดด้วยว่า นางจันทร์ ตั้งครรภ์โดยไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นสามี หลังจากนั้นคลอดบุตรคือจำเลยก็มอบจำเลยให้นางพันลองไปเลี้ยงดู เมื่อนางพันลองอยู่กินกับนายลือได้มอบให้นางสาวอธิตยาหรือจุ๋ม เป็นผู้เลี้ยงดูจำเลยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ก็ปรากฏว่านางสาวอธิตยาหรือจุ๋ม มาศาลในวันนัดพิจารณาดังกล่าวและเป็นผู้มอบสูติบัตรของจำเลยอ้างส่งเป็นพยานให้ศาลรับรวมสำนวนไว้ กรณีจึงน่าเชื่อว่านางพันลองไปแจ้งการเกิดตามสูติบัตรว่าจำเลยเป็นบุตรของนางพันลองโดยไม่ตรงตามความจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมิใช่บุตรของนางพันลอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมิใช่บุตรซึ่งเกิดจากนางพันลอง ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อนางพันลอง เป็นชื่อมารดา ให้จำเลยไปดำเนินการแจ้งต่อนายทะเบียน หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.
??

??

??

??

2/2

Share