แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ส. ในวันที่ 6 กันยายน 2544 จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกและกรรมการสาขาพรรค ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง คือ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2544 เมื่อจำเลยไม่ยื่นภายในกำหนด จำเลยจึงกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 ซึ่งตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนด ให้ระวางโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 7 ตุลาคม 2544 โจทก์ฟ้องจำเลยในวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เกินกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดซึ่งขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 วรรคหนึ่ง (5) และความผิดดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวบทเดียว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 84 ได้อีก ทั้งไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่อง แม้ต่อมาจำเลยจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนเลยก็จะปรับจำเลยเป็นรายวันอีกไม่ได้ เพราะความผิดของจำเลยได้สิ้นสุดโดยขาดอายุความไปแล้ว และเมื่อโจทก์ไม่ได้ตัวจำเลยมาฟ้องภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความฟ้องจำเลย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 12 (5), 42, 65, 84 และให้จำเลยชำระค่าปรับไม่เกินวันละ 500 บาท นับแต่วันฝ่าฝืนจนกว่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 22 (5) วรรคหนึ่ง, 42 วรรคหนึ่ง, 65 (3) วรรคหนึ่ง, 84 ปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544) จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท และปรับอีกวันละ 50 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 19,400 บาท) และให้ชำระค่าปรับอีกวันละ 50 บาท นับแต่วันถัดจากมีคำพิพากษาจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง กรณีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 22 (4) วรรคหนึ่ง, 42 วรรคหนึ่ง, 65 (3) วรรคหนึ่ง, 84 ให้ปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 100 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับวันละ 50 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2544 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า จำเลยเป็นสมาชิกและกรรมการสาขาพรรคเสรีธรรม เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเสรีธรรมโดยรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่าวันที่ 6 กันยายน 2544 เป็นวันที่สมาชิกภาพและการดำรงตำแหน่งกรรมการสาขาพรรคเสรีธรรมของจำเลยสิ้นสุดลง จำเลยไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2545 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเสรีธรรมในวันที่ 6 กันยายน 2544 จำเลยต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง นั่นคือจำเลยต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2544 เมื่อจำเลยไม่ยื่นภายในกำหนดจำเลยจึงกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 ซึ่งตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ระบุว่า ถ้ากรรมการสาขาพรรคการเมืองไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทและปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งอัตราโทษดังกล่าวมีเพียงโทษปรับสถานเดียว อายุความในการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 วรรคหนึ่ง (5) ระบุว่า ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความฟ้องร้อง จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 7 ตุลาคม 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เกินกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันจำเลยกระทำความผิด ซึ่งขาดอายุความ และความผิดดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวบทเดียว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ได้อีกทั้งไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องดังโจทก์ฎีกา แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนเลยก็ตาม ก็จะปรับจำเลยเป็นรายวันอีกไม่ได้เพราะความผิดของจำเลยได้สิ้นสุดโดยขาดอายุความไปแล้ว ส่วนที่มาตรา 84 ดังกล่าวกำหนดโทษให้ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หมายความว่าจำเลยได้กระทำผิดตามมาตรา 42 ฐานไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อนายทะเบียน และโจทก์ได้ตัวจำเลยมาฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปีแล้ว ซึ่งศาลลงโทษจำเลยตามมาตรา 48 ดังกล่าว โดยปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทและแม้จะลงโทษจำเลยไปแล้วก็ยังบังคับให้จำเลยต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อนายทะเบียน มิฉะนั้นจะจะถูกปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาท ตลอดไปจนกว่าจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ตัวจำเลยมาฟ้องภายในกำหนด 1 ปี จึงขาดอายุความฟ้องจำเลย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ความผิดของจำเลยที่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อนายทะเบียนภายในกำหนด 30 วัน และความผิดที่ไม่ได้ยื่นบัญชีต่อมาที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ขาดอายุความ ส่วนความผิดที่ไม่ได้ยื่นบัญชีต่อมาที่เกิดตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2544 ยังไม่ขาดอายุความ จำเลยต้องถูกปรับเป็นรายวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาข้อนี้ขึ้นมา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแล้วแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง