คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7654/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลชั้นต้นต้องลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามฟ้องโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งมีระวางโทษจำคุกต่ำกว่า เป็นการปรับบทผิดโดยพลั้งเผลอ แต่ศาลชั้นต้นก็ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นการถูกต้องตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม หากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่าสมควรแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะแก้เฉพาะในส่วนที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงควรแก้ไขโดยปรับบทความผิดให้ถูกต้องเป็นมาตรา 277 วรรคสาม โดยไม่จำเป็นต้องแก้โทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่แก้บท แต่กลับไปแก้โทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาถูกต้องแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 371, 91, 33 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 371 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุกตลอดชีวิต ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 12 ปี ฐานพาอาวุธปรับ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เฉพาะความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 25 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุก 31 ปี และปรับ 50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 18 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 9 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้พาผู้เสียหายที่ 2 ลงไปข้างทางโดยใช้มีดปลายแหลมจี้ที่บริเวณเอวของผู้เสียหายที่ 2 ไว้ เมื่อไปถึงบริเวณหลังต้นไม้ใหญ่ จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีอายุสิบสามปีเศษ อยู่ในความปกครองดูแลของนาง บ. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของผู้เสียหายที่ 2 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ลงไปข้างทางโดยใช้มีดปลายแหลมจี้ที่บริเวณเอวของผู้เสียหายที่ 2 ไว้จนถึงบริเวณหลังต้นไม้ใหญ่เพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จำเลยย่อมกระทำไปโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลคือให้ผู้เสียหายที่ 2 พ้นไปจากการปกครองดูแลของผู้ปกครองหรือผู้ดูแล อันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร และเป็นความผิดสำเร็จฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารนับแต่เริ่มพรากผู้เสียหายที่ 2 แล้ว แม้จำเลยจะยังไม่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามฟ้อง ส่วนเมื่อจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากการปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 แล้ว จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ย่อมเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากแยกออกได้จากความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเป็น 2 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้โทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากจำคุกตลอดชีวิตก่อนลดโทษให้เป็นลงโทษจำคุก 18 ปี ก่อนลดโทษให้ ซึ่งเป็นระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายความชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยใช้อาวุธมีดปลายแหลมที่นำติดตัวมา และขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมบังคับพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บริเวณที่เกิดเหตุแล้วพูดขู่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ยอมให้จำเลยกระทำชำเรา หลังจากนั้นจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลชั้นต้นต้องลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามฟ้องโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยไม่มีอาวุธ อันมีระวางโทษจำคุกต่ำกว่า คือ จำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี เป็นการปรับบทผิดโดยพลั้งเผลอ แต่ศาลชั้นต้นก็ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นการถูกต้องตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงไม่ได้อุทธรณ์เพราะเห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยมาถูกต้องแล้ว หากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า สมควรแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะแก้เฉพาะในส่วนที่เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษามาไม่ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงควรแก้ไขโดยปรับบทความผิดให้ถูกต้องเป็นมาตรา 277 วรรคสาม โดยไม่จำต้องแก้โทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่แก้บทแต่กลับไปแก้โทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาถูกต้องแล้วเช่นนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 317 วรรคสาม ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share