คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259-260/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น” ซึ่งหมายความว่าศาลแรงงานจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นหนังสือและในคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เป็นหนังสือนั้นจะต้องมีส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรกต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปเพื่อศาลฎีกาจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานได้ฟังไว้นั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปหากมีอุทธรณ์ในประเด็นนั้น ประการที่สองจะต้องแสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานจดไว้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และประการที่สามคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบการทำงานตามคู่มือพนักงานและกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) โดยไม่เป็นจริงตามนั้น และขอให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันก่อนวันรับกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จตอบแทน และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ข้อ คือ ข้อ 1 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพราะโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงเพียงใด หรือไม่ ข้อ 2 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ข้อ 3 โจทก์ทั้งสองเสียหายเพียงใด หรือไม่ แล้ววินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 โดยกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปว่าโจทก์ทั้งสองลักลอบดื่มเบียร์ของจำเลย ทั้งขณะที่นาย ย. เดินมาตรวจพบโจทก์ทั้งสองเป็นเวลา 22.55 นาฬิกา โจทก์ทั้งสองจึงต้องดื่มเบียร์ก่อนเวลา 22.55 นาฬิกา จึงเป็นช่วงเวลาที่โจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ โดยแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 ซึ่งจำเลยสามารถลงโทษปลดโจทก์ทั้งสองออกจากงานได้โดยไม่ต้องมีคำเตือนก่อน และเป็นกรณีตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ 10 ข้อ 3 วรรคท้ายแล้ว แล้ววินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จตอบแทนแก่โจทก์ทั้งสอง จึงเป็นคำพิพากษาที่มีส่วนสำคัญครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว ส่วนการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 นั้น เป็นการวินิจฉัยถึงการเลิกจ้างของจำเลยว่าเป็นธรรมหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองจะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อประเด็นข้อ 1 ฟังได้ว่าจำเลยมีความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง การเลิกจ้างดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเมื่อฟังตามประเด็นข้อ 2 แล้วโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย (ที่ถูกคือ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม) จากจำเลย การวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 นี้เป็นการวินิจฉัยต่อเนื่องจากประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ซึ่งศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นความผิดกรณีร้ายแรงที่จำเลยสามารถลงโทษปลดโจทก์ทั้งสองออกจากงานได้ แล้ววินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทนี้ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามประเด็นข้อพิพาทข้อสุดท้าย แม้การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยโดยรวบรัดไปบ้างแต่เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาททั้งสามข้อประกอบกันแล้วคงมีการกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงโดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยโดยชอบแล้ว คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า การที่โจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานหรือต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จตอบแทนการทำงานและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ห้องอาหารระเบียงทอง ระหว่างที่โจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่พนักงานเสิร์ฟนั้น นาย ย. รองผู้จัดการทั่วไปตรวจพบว่าโจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ ขณะนั้นเป็นเวลา 22.55 นาฬิกา ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่โจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่พนักงานเสิร์ฟ และปรากฏตามบันทึกเรื่องเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามคู่มือพนักงานหมวดที่ 9 ข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 เมื่อพิจารณาคู่มือพนักงาน หมวดที่ 9 ระเบียบวินัยและมาตรการลงโทษทางวินัยของจำเลยแล้ว ตามข้อ 1 ได้กำหนดระเบียบขั้นตอนการลงโทษทางวินัยตามลำดับจากการตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 3 และการปลดออกจากงาน ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดวินัยจนกระทั่งได้รับการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งที่ 3 แล้ว และข้อ 2 ได้กำหนดโทษทางวินัยที่ต้องลงโทษเรียงตามลำดับดังกล่าวไว้ 37 กรณี และในข้อ 3 ได้กำหนดมาตรการลงโทษขั้นปลดออกจากงานได้โดยมิต้องใช้การเรียงลำดับขั้นตอนโทษไว้ 15 กรณี โดยในข้อ 3.1 ระบุว่าดื่มเครื่องดองของเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือภายในบริเวณโรงแรม หรือมาทำงานในขณะที่มีอาการมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเนื่องจากดื่มเครื่องดองของเมา หรือยาเสพติดให้โทษอื่น การกำหนดโทษดังกล่าวจำเลยมิได้กำหนดให้ความผิดในข้อ 3 เป็นความผิดกรณีร้ายแรง เพียงแต่เป็นความผิดที่จำเลยสามารถใช้มาตรการลงโทษขั้นปลดออกจากงานได้เท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์อันเป็นเครื่องดองของเมาในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นความผิดตามคู่มือพนักงานหมวดที่ 9 ข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 แต่โดยตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานเสิร์ฟมิได้มีหน้าที่สำคัญที่อาจก่อความเสียหายแก่จำเลยและดื่มก่อนจะถึงเวลาเลิกงานเพียง 5 นาที ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีอาการมึนเมาหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างใด อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีลูกค้าของจำเลยตำหนิการปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสอง ดังนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงจึงไม่เข้ากรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสอง ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2537 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,539 บาท และจำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,545 บาท เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 13 และ 14 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งสองจึงทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 76,312 บาท และจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 76,360 บาท แม้ว่าการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งสองจะมิใช่กรณีฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ถือเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง
ส่วนเงินบำเหน็จตอบแทนการทำงานนั้นตามคู่มือพนักงาน หมวดที่ 10 มาตรการการเลิกจ้างและค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินบำเหน็จ ข้อ 3 ตอนท้าย ระบุว่า “ในส่วนของเงินบำเหน็จที่พนักงานซึ่งถูกเลิกจ้างจะได้รับพร้อมกับเงินค่าชดเชยในขณะถูกเลิกจ้างมีอัตราส่วนคือจำนวนเงิน 2,400 บาท คูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงานตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวันที่ถูกเลิกจ้างเว้นแต่ในกรณีที่พนักงานลาออกเองโดยสมัครใจหรือถูกปลดออกจากงานเนื่องจากกระทำผิดวินัยร้ายแรง” เมื่อปรากฏว่าการที่จำเลยปลดโจทก์ทั้งสองออกจากงานมิใช่เพราะโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงแล้วจำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 เท่ากับจำนวนเงิน 2,400 บาท คูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงานคือ 9 ปี 6 เดือน เป็นเงิน 22,800 บาท และจำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 2 เท่ากับจำนวนเงิน 2,400 บาท คูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงานคือ 7 ปี เป็นเงิน 16,800 บาท
การที่โจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความผิดตามคู่มือพนักงาน หมวดที่ 9 ข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุจากการที่โจทก์ทั้งสองกระทำความผิดดังกล่าว จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานต่อไป หรือจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด
อนึ่ง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ระบุให้ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาที่ผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสองจะขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในค่าชดเชยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมก่อนเลิกจ้างและจ่ายค่าเสียหายนับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันก่อนวันรับกลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่อาจรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานได้ก็ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จตอบแทนเมื่อออกจากงาน ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2537 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 ตามลำดับ โดยทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ห้องอาหารระเบียงทอง ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,539 บาท และ 9,545 บาท ตามลำดับ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 เวลา 22.55 นาฬิกา นายยงยุทธ รองผู้จัดการทั่วไปของจำเลยพบโจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ในเวลาทำงาน มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อ 2.3 และข้อ 2.5 ประการแรกว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น” ซึ่งหมายความว่าศาลแรงงานจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นหนังสือและในคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เป็นหนังสือนั้นจะต้องมีส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรกต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปเพื่อศาลฎีกาจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานได้ฟังไว้นั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปหากมีอุทธรณ์ในประเด็นนั้น ประการที่สองจะต้องแสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานจดไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และประการที่สามคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบการทำงานตามคู่มือพนักงานและกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) โดยไม่เป็นจริงตามนั้น และขอให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันก่อนวันรับกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จตอบแทน และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ข้อ คือ ข้อ 1 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพราะโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงเพียงใดหรือไม่ ข้อ 2 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ข้อ 3 โจทก์ทั้งสองเสียหายเพียงใด หรือไม่ แล้ววินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 โดยกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปว่าโจทก์ทั้งสองลักลอบดื่มเบียร์ของจำเลย ทั้งขณะที่นายยงยุทธเดินมาตรวจพบโจทก์ทั้งสองเป็นเวลา 22.55 นาฬิกา โจทก์ทั้งสองจึงต้องดื่มเบียร์ก่อนเวลา 22.55 นาฬิกา จึงเป็นช่วงเวลาที่โจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ โดยแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง ข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 ซึ่งจำเลยสามารถลงโทษปลดโจทก์ทั้งสองออกจากงานได้โดยไม่ต้องมีคำเตือนก่อน และเป็นกรณีตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ 10 ข้อ 3 วรรคท้ายแล้ว แล้ววินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จตอบแทนแก่โจทก์ทั้งสอง จึงเป็นคำพิพากษาที่มีส่วนสำคัญครบถ้วนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่งแล้ว ส่วนการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 นั้น เป็นการวินิจฉัยถึงการเลิกจ้างของจำเลยว่าเป็นธรรมหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองจะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อประเด็นข้อ 1 ฟังได้ว่าจำเลยมีความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง การเลิกจ้างดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเมื่อฟังตามประเด็นข้อ 2 แล้วโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย (ที่ถูกคือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม) จากจำเลย การวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 นี้ เป็นการวินิจฉัยต่อเนื่องจากประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ซึ่งศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นความผิดกรณีร้ายแรงที่จำเลยสามารถลงโทษปลดโจทก์ทั้งสองออกจากงานได้ แล้ววินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทนี้ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามประเด็นข้อพิพาทสุดท้าย แม้การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยโดยรวบรัดไปบ้างแต่เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาททั้งสามข้อประกอบกันแล้วคงมีการกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงโดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยโดยชอบแล้ว คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทั้งสองข้อ 2.3 และข้อ 2.5 ในประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า การที่โจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานหรือต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จตอบแทนการทำงานและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ห้องอาหารระเบียงทอง ระหว่างที่โจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่พนักงานเสิร์ฟนั้น นายยงยุทธ รองผู้จัดการทั่วไปตรวจพบว่าโจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ ขณะนั้นเป็นเวลา 22.55 นาฬิกา ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่โจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่พนักงานเสิร์ฟ และปรากฏตามบันทึกเรื่องเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามคู่มือพนักงานหมวดที่ 9 ข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 เมื่อพิจารณาคู่มือพนักงาน หมวดที่ 9 ระเบียบวินัยและมาตรการลงโทษทางวินัยของจำเลยแล้ว ตามข้อ 1 ได้กำหนดระเบียบขั้นตอนการลงโทษทางวินัยตามลำดับจากการตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 3 และการปลดออกจากงาน ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดวินัยจนกระทั่งได้รับการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งที่ 3 แล้ว และข้อ 2 ได้กำหนดโทษทางวินัยต้องลงโทษเรียงตามลำดับดังกล่าวไว้ 37 กรณี และในข้อ 3 ได้กำหนดมาตรการลงโทษขั้นปลดออกจากงานได้โดยมิต้องใช้การเรียงลำดับขั้นตอนโทษไว้ 15 กรณี โดยในข้อ 3.1 ระบุว่าดื่มเครื่องดองของเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือภายในบริเวณโรงแรม หรือมาทำงานในขณะที่มีอาการมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเนื่องจากดื่มเครื่องดองของเมา หรือยาเสพติดให้โทษอื่น การกำหนดโทษดังกล่าวจำเลยมิได้กำหนดให้ความผิดในข้อ 3 เป็นความผิดกรณีร้ายแรง เพียงแต่เป็นความผิดที่จำเลยสามารถใช้มาตรการลงโทษขั้นปลดออกจากงานได้เท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์อันเป็นเครื่องดองของเมาในระหว่างการปฏบัติหน้าที่จึงเป็นความผิดตามคู่มือพนักงานหมวดที่ 9 ข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 แต่โดยตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานเสิร์ฟมิได้มีหน้าที่สำคัญที่อาจก่อความเสียหายแก่จำเลยและดื่มก่อนจะถึงเวลาเลิกงานเพียง 5 นาที ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีอาการมึนเมาหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างใด อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีลูกค้าของจำเลยตำหนิการปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสอง ดังนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงจึงไม่เข้ากรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสอง ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2537 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,539 บาท และจำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,545 บาท เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 13 และ 14 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งสองจึงทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 76,312 บาท และจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 76,360 บาท แม้ว่าการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งสองจะมิใช่กรณีฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ถือเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง
ส่วนเงินบำเหน็จตอบแทนการทำงานนั้นตามคู่มือพนักงาน หมวดที่ 10 มาตรการการเลิกจ้างและค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินบำเหน็จ ข้อ 3 ตอนท้าย ระบุว่า “ในส่วนของเงินบำเหน็จที่พนักงานซึ่งถูกเลิกจ้างจะได้รับพร้อมกับเงินค่าชดเชยในขณะถูกเลิกจ้างมีอัตราส่วนคือ จำนวนเงิน 2,400 บาท คูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงานตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวันที่ถูกเลิกจ้างเว้นแต่ในกรณีที่พนักงานลาออกเองโดยสมัครใจหรือถูกปลดออกจากงานเนื่องจากกระทำผิดวินัยร้ายแรง” เมื่อปรากฏว่าการที่จำเลยปลดโจทก์ทั้งสองออกจากงานมิใช่เพราะโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงแล้วจำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 เท่ากับจำนวนเงิน 2,400 บาท คูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงานคือ 9 ปี 6 เดือน เป็นเงิน 22,800 บาท และจำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 2 เท่ากับจำนวนเงิน 2,400 บาท คูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงานคือ 7 ปี เป็นเงิน 16,800 บาท
การที่โจทก์ทั้งสองดื่มเบียร์ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความผิดตามคู่มือพนักงาน หมวดที่ 9 ข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุจากการที่โจทก์ทั้งสองกระทำความผิดดังกล่าว จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานต่อไป หรือจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ระบุให้ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาที่ผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสองจะขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในค่าชดเชยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 76,312 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 76,360 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีและจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 22,800 บาท จ่ายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 16,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 ธันวาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share