คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า พ. บุตรโจทก์ถูกจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3รับผิดต่อโจทก์ในฐานะบิดามารดาผู้ปกครองจำเลยที่ 3 และในฐานะที่เป็นผู้รับจ้างเลี้ยงดู พ. ไม่ระมัดระวังตามหน้าที่และวิชาชีพปล่อยปละละเลยให้ พ. ถูกทำร้าย ดังนี้ ข้อสำคัญอันเป็นมูลให้โจทก์ฟ้องก็คือจำเลยที่ 3 ทำร้าย พ. เท่านั้น หาได้เลยไปถึงกรณี พ. หกล้มเองไม่ ประเด็นที่ว่าพ. หกล้มจนขาหักเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยงดูประมาทเลินเล่อหรือไม่จึงไม่มี การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พ. หกล้มเอง มิใช่ถูกจำเลยที่ 3ทำร้าย แต่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลรักษา พ.ตามควรแก่หน้าที่ จึง เป็นการพิพากษาในประเด็นที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของเด็กชายพงษ์สิทธิ์ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจรั่ว จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ตรวจรักษาทั้งที่โรงพยาบาลเด็กและที่สำนักงานแพทย์ของตนและจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รับเลี้ยงเด็กชายพงษ์สิทธิ์ไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็กของจำเลยทั้งสองโดยโจทก์ต้องเสียค่าเลี้ยงดู ขณะที่เด็กชายพงษ์สิทธิ์อยู่ในความปกครองดูแลรักษาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ที่บ้านพักของจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ปล่อยปละละเลยจำเลยที่ ๓ บุตรผู้เยาว์ของตนทำร้ายร่างกายเด็กชายพงษ์สิทธิ์เป็นเหตุให้กระดูกขาข้างซ้ายหักและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ในฐานะแพทย์และผู้เลี้ยงดูไม่ใช้ความระมัดระวังหน้าที่ตามวิชาชีพ ในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยงดูปล่อยปละละเลยให้เด็กชายพงษ์สิทธิ์ถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย และในฐานะบิดามารดาของจำเลยที่ ๓ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ ๓ทำร้ายเด็กชายพงษ์สิทธิ์จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการเลี้ยงดูและรักษาเด็กชายพงษ์สิทธิ์ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ทำร้ายร่างกายเด็กชายพงษ์สิทธิ์ เด็กชายพงษ์สิทธิขาซ้ายหักเพราะวิ่งสะดุดธรณีประตูห้องน้ำและการตายเกิดจากโรคปอดบวมไม่เกี่ยวกับขาหักแต่อย่างใด ค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เด็กชายพงษ์สิทธิ์ล้มลงแล้วขาหักเอง มิใช่จำเลยที่ ๓เตะจนขาหัก จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ใช้ความระมัดระวังในการเลี้ยงดูเด็กชายพงษ์สิทธิ์เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามฟ้องกล่าวถึงเหตุที่เด็กชายพงษ์สิทธิ์ตายว่าเนื่องจากถูกจำเลยที่ ๓ ทำร้ายเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังว่าเด็กชายพงษ์สิทธิ์ล้มลงขาหักเอง มิใช่ถูกจำเลยที่ ๓ เตะจนขาหัก จำเลยที่ ๓ จึงไม่ได้ทำละเมิดต่อบุตรโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเพิ่มขึ้นว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ใช่ความระมัดระวังดูแลรักษาเด็กชายพงษ์สิทธิ์ตามควรแก่หน้าที่หรือไม่โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างถึงปัญหานี้ไว้ในคำฟ้องและยกประเด็นนี้ขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ที่ ๒ ร่วมกันรับผิดจึงเป็นการพิพากษาในประเด็นที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษาแก้เป็นว่ายกฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ด้วย
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ก็คือจำเลยที่ ๓ ทำร้ายบุตรโจทก์ถึงขาหักเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดโจทก์ทั้งในฐานะเป็นบิดามารดาผู้ปกครองจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้เยาว์และในฐานะเป็นผู้รับจ้างเลี้ยงดูบุตรโจทก์อีกด้วย ข้อสำคัญอันเป็นมูลฟ้องก็คือจำเลยที่ ๓ ทำร้ายร่างกายบุตรโจทก์เท่านั้นหาได้เลยไปถึงกรณีบุตรโจทก์หกล้มเองไม่ ประเด็นที่ว่าการที่บุตรโจทก์หกล้มจนขาหักเป็นเพราะจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยงดูประมาทเลินเล่อหรือไม่จึงไม่มี ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องดังกล่าวนอกฟ้อง ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share