แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท พ.ผลิตรถยนต์จำหน่ายให้แก่บริษัทส. ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวโดยมีข้อตกลงและระเบียบปฏิบัติต่อกันว่าเมื่อบริษัท พ. ผลิตรถยนต์แต่ละคันเสร็จจะทำสำเนาเอกสารใบ D/O(DeliveryOrder) ระบุรุ่นของรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถังและรหัสสีของรถยนต์มอบให้แก่บริษัทส. พร้อมกับส่งมอบรถยนต์ไปจอดเก็บไว้ที่บริษัท ส.เพื่อจะได้ทราบว่าบริษัทพ.ผลิตรถยนต์รุ่นใด สีใดไว้แล้วจะได้เสนอขายแก่ลูกค้า ถ้าบริษัทส.ต้องการจะซื้อรถยนต์คันใดก็จะโทรศัพท์สั่งซื้อไปยังบริษัทพ.ครั้นสิ้นเดือน ฝ่ายบัญชีของบริษัท ส. ก็จะรวบรวมยอดรถยนต์ที่สั่งซื้อในเดือนนั้นทำเป็นใบสั่งซื้อ (PurchaseForm) ส่งให้บริษัท พ.แล้วบริษัทพ. จะออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) สำหรับรถยนต์ที่ซื้อขายกันในเดือนนั้นมาให้แก่บริษัท ส. เพื่อเรียกเก็บเงินต่อไป และการที่บริษัท พ. ส่งมอบรถยนต์ไปจอดเก็บไว้ที่บริษัท ส. ก็เป็นการนำไปฝากจอดไว้ เอกสารใบ D/O จึงเป็นเพียงเอกสารที่แสดงว่าบริษัท พ. ได้ผลิตรถยนต์รุ่นใด สีใด จำนวนเท่าใดไว้พร้อมที่จะขายให้แก่บริษัท ส.เท่านั้นวันที่บริษัทพ.ออกเอกสารใบ D/O จึงยังมิใช่วันที่มีการซื้อขายรถยนต์เสร็จเด็ดขาดแต่จะเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดต่อเมื่อบริษัท ส. มีคำสั่งซื้อบริษัท พ. จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าในเดือนภาษีที่มีคำสั่งซื้อนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 จัตวา (3) คดีมีพยานเอกสารที่โจทก์ต้องอ้างอิงเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการยากที่จะทราบได้ว่าต้องอ้างอิงเอกสารอะไรทั้งหมดในคราวเดียวกันแต่โจทก์ได้ระบุอ้างพยานเอกสารในครั้งแรกก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตั้งแต่พยานอันดับ 11 ถึงอันดับ 28 รวม 18 อันดับไว้แล้ว การที่โจทก์มาขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมอีก 2 ครั้งโดยระบุพยานเอกสารเพิ่มเติมอีกรวม 8 อันดับนั้น ถือได้ว่ามีเหตุอื่นอันสมควร เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์ระบุเพิ่มเติมเป็นเอกสารสำคัญอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีที่ศาลต้องใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญในปัญหาที่โต้เถียงกันเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมได้ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 8 วรรคสี่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ 6 ฉบับ คือฉบับเลขที่ 317 ก./2531/1,317 ข./2531/1,317 ค./2531/1,317ง./2531/1,317 จ./2531/1และ 317 ฉ./2531/1 ซึ่งวินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีเทศบาลรวม 63,181,961.69 บาทโดยแนบสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้ง 6 ฉบับ ดังกล่าวมาท้ายฟ้องด้วยและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์รวม 6 ฉบับ ที่ให้โจทก์ชำระภาษีการค้า เงินเพิ่ม เบี้ยปรับและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 63,181,961.69 บาท และเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าว ย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวแล้วว่า โจทก์ได้ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเลขที่317 ง./2531/1 ด้วย ดังนั้น แม้ว่าตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะมิได้ระบุขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวก็ตามศาลภาษีอากรกลางก็มีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวได้ หาเกินคำขอไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้แจ้งการประเมินและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์เสียภาษีการค้าเดือนกรกฎาคม 2525 ถึงเดือนธันวาคม 2529 รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 63,181,961.69 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษาเพิกถอนแบบแจ้งภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 317 ก./2531/1, 317 ข./2531/1,317 ค./2531/1, 317 จ./2531/1, และ 317 ฉ./2531/1 รวม 6 ฉบับที่ให้โจทก์ชำระภาษีการค้า เงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 63,181,961.69 บาท และให้งดเว้นเรียกเก็บเบี้ยปรับจากโจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าที่ 10 62/2/00192 – 00193 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2529ที่ 10 62/3/00224 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2530 กับที่ 1062/3/00225 – 00227 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2530 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ 317 ก. ถึง 317 ฉ./2531/1 ลงวันที่21 กันยายน 2531
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าประการแรกว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าบริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด ผลิตรถยนต์จำหน่ายให้แก่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวโดยมีข้อตกลงและระเบียบปฏิบัติต่อกันว่า เมื่อบริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด ผลิตรถยนต์แต่ละคันเสร็จ จะนำสำเนาเอกสารใบ D/O (Delivery Order) ระบุรุ่นของรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถังและรหัสสีของรถยนต์ที่ผลิตมอบให้แก่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด พร้อมกับส่งมอบรถยนต์ไปจอดเก็บไว้ที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด เพื่อจะได้ทราบว่าบริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด ผลิตรถยนต์รุ่นใด สีใดไว้แล้วจะได้เสนอขายให้แก่ลูกค้า ถ้าบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด ต้องการจะซื้อรถยนต์คันใดก็จะโทรศัพท์สั่งซื้อไปยังบริษัทสหพัฒนายานยนต์จำกัด ครั้นสิ้นเดือนฝ่ายบัญชีของบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัดก็จะรวบรวมยอดรถยนต์ที่สั่งซื้อในเดือนนั้นทำเป็นใบสั่งซื้อ(Purchase Form) ส่งให้บริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด แล้วบริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด จะออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) สำหรับรถยนต์ที่ซื้อขายกันในเดือนนั้นมาให้แก่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์จำกัด เพื่อเรียกเก็บเงินต่อไป และการที่บริษัทสหพัฒนายานยนต์จำกัด ส่งมอบรถยนต์ไปจอดเก็บไว้ที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัดก็เป็นการนำไปฝากจอดไว้เอกสาร D/O จึงเป็นเพียงเอกสารที่แสดงว่าบริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด ได้ผลิตรถยนต์ รถยนต์รุ่นใด สีใดจำนวนเท่าใดไว้พร้อมที่จะขายให้แก่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัดเท่านั้น วันที่บริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด ออกเอกสารใบ D/Oจึงยังมิใช่วันที่มีการซื้อขายรถยนต์เสร็จเด็ดขาด แต่จะเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดต่อเมื่อบริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัดมีคำสั่งซื้อบริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าในเดือนภาษีที่มีคำสั่งซื้อนั้น ตามมาตรา 79 จัตวา (3)แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือเอาวันที่บริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด นำรถยนต์ไปฝากไว้ที่บริษัทสิทธิผลมอเตอร์ จำกัด เป็นวันซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แล้วประเมินและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้บริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัด เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าประการต่อไปมีว่าศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้มีเอกสารที่โจทก์ต้องอ้างอิงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการยากที่จะทราบได้ว่าต้องอ้างอิงเอกสารอะไรได้ทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่โจทก์ได้ระบุพยานอ้างพยานเอกสารในครั้งแรกก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตั้งแต่พยานอันดับ 11ถึงอันดับ 28 รวม 18 อันดับไว้แล้ว การที่โจทก์มาขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง โดยระบุพยานเอกสารเพิ่มเติมอีกรวม 8 อันดับนั้น ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ระบุเพิ่มเติม เป็นเอกสารสำคัญอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีที่ศาลต้องใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญในปัญหาที่โต้เถียงกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น ศาลภาษีอากรกลางก็มีอำนาจที่จะอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมได้ดังที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 8 วรรคสี่ฉะนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมทั้งสองครั้งจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฉบับเลขที่ 317 ง./2531/1 ทั้ง ๆ ที่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ระบุขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฉบับดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเลขที่ 317 ง./2531/1 เป็นคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการประเมินภาษีการค้าของบริษัทสหพัฒนายานยนต์ จำกัดเดือนมกราคม – ธันวาคม 2527 ซึ่งโจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องข้อที่ 2แล้วว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 6 ฉบับ และบรรยายรายละเอียดในแต่ละฉบับว่าเป็นการประเมินภาษีการค้าในช่วงระยะเวลาใด เป็นจำนวนเงินเท่าใดรวมทั้งการประเมินภาษีการค้าระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2527ไว้ด้วยแล้ว และโจทก์เห็นว่าการประเมินตามแบบหนังสือแจ้งภาษีการค้าทั้ง 6 ฉบับไม่ชอบ จึงได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้ง 6 ฉบับ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ 6 ฉบับ คือฉบับเลขที่ 317 ก./2531/1,317 ข./2531/1, 317 ค./2531/1, 317 ง./2531/1, 317 จ./2531/1,และ 317 ฉ./2531/1 ซึ่งวินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีเทศบาลรวมเป็นเงิน 63,181,961.69 บาทโดยโจทก์ได้แนบสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้ง 6 ฉบับ มาท้ายฟ้องด้วยและโจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่าโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาล รวม 63,181,961.69 บาทดังกล่าวในคำฟ้อง ข้อ 2 ส่วนคำขอท้ายฟ้องก็ได้ขอให้ศาลพิพากษายกเลิกเพิกถอนแบบหนังสือแจ้งภาษีการค้า เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มกับยกเลิกเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3, 4 และ 5 รวม6 ฉบับ ที่ให้โจทก์ชำระเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 63,181,961.69 บาท และเสียค่าขึ้นศาลในจำนวนทุนทรัพย์ 63,181,961.69 บาท ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ได้ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเลขที่ 317 ง./2531/1ด้วย ดังนั้น แม้ว่าตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะมิได้ระบุขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวก็ตาม ศาลภาษีอากรกลางก็มีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวได้ ไม่เป็นการพิพากษาให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน