แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ศาลจะอนุญาตให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนต้นฉบับ เอกสารที่สูญหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2) นั้น หาได้มีบทบัญญัติบังคับไว้ว่าต้องนำพยานบุคคลผู้รักษาต้นฉบับเอกสารมาสืบไม่ พยานบุคคลใด ๆ ที่รู้เห็น หรือทราบความสูญหายแห่งต้นฉบับเอกสารนั้นสามารถนำมาสืบได้ ดังนั้นการที่โจทก์นำผู้รับมอบอำนาจโจทก์ผู้ทราบความสูญหาย แห่งต้นฉบับเอกสารมาเบิกความยืนยันว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ได้สูญหายไปเพราะโจทก์เก็บเอกสารไม่เป็นระเบียบและเกิด น้ำท่วมภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ สามารถนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นย่อมเป็นการเพียงพอให้ รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินได้สูญหาย ไปจริงและโจทก์ชอบที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ โดยไม่จำต้อง มีหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงต่อศาลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 60,703 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 52,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 1ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันกู้ (วันที่ 27 เมษายน 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน 8,203 บาท ให้แก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยที่ 2 มิได้โต้เถียงในชั้นฎีกาว่าเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินจำนวน 52,500 บาท จากโจทก์ ตกลงชำระเงินกู้ยืมคืนโจทก์ภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2538 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ครั้นหนี้ถึงกำหนดชำระจำเลยที่ 1 ผิดนัดและจำเลยทั้งสองยังมิได้ชำระต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินคดีนี้ได้สูญหายไปหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์มีเพียงผู้รับมอบอำนาจโจทก์ผู้เดียวเบิกความลอย ๆว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินได้สูญหายไป มิได้นำพยานบุคคลผู้รักษาเอกสารคือตัวโจทก์มาเบิกความให้ศาลเห็นและเชื่อว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินได้สูญหายไปจริง เห็นว่าการที่ศาลจะอนุญาตให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนต้นฉบับเอกสารที่สูญหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) นั้น หาได้มีบทบัญญัติบังคับไว้ว่าต้องนำพยานบุคคลรักษาต้นฉบับมาสืบไม่กรณีจึงสามารถนำพยานบุคคลใด ๆ ที่รู้เห็นหรือทราบความสูญหายแห่งต้นฉบับเอกสารนั้นมาสืบได้ ดังนั้น การที่โจทก์นำผู้รับมอบอำนาจโจทก์ผู้ทราบความสูญหายแห่งต้นฉบับเอกสารมาเบิกความยืนยันว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินคดีนี้ได้สูญหายไปเพราะโจทก์เก็บเอกสารไม่เป็นระเบียบและเกิดน้ำท่วมอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยของโจทก์เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2538 โดยจำเลยที่ 2ไม่สามารถนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นการเพียงพอให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าหนังสือกู้ยืมเงินคดีนี้ได้สูญหายไปจริง และโจทก์ชอบที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้โดยไม่จำต้องมีหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงต่อศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน