แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2จำเลยที่ 1 ที่ 2 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าคำรับของจำเลยในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่ารับฟังเป็นพยานได้เพียงใด โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 82)
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ,83 จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 ปี ฯลฯ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 80)
จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 82)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2โดยอาศัยคำรับของจำเลยในชั้นสอบสวนแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาศัยคำเบิกความของผู้เสียหายและพยานปากอื่นด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 โต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง