แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โทษทางวินัยตามระเบียบของจำเลยมี 6 ประเภท คือ ตักเตือน พักงาน ตัดเงินเดือน ให้ออก ปลดออก และไล่ออก ดังนั้น การยกเลิก เรียกคืน หรือระงับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นโทษทางวินัยของจำเลย และแม้การได้รับสิทธิในการใช้บัตรโดยสารของพนักงานจำเลยตามระเบียบของจำเลยจะถือเป็นสภาพการจ้าง แต่การได้รับสิทธินั้นย่อมต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว เมื่อระเบียบของจำเลยกำหนดห้ามมิให้พนักงานใช้สิทธิเรื่องบัตรโดยสารเพื่อประโยชน์ทางการค้า และ/หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัยและถูกระงับการขอบัตรโดยสาร และจำเลยสงวนสิทธิ์ที่จะระงับการใช้บัตรโดยสารของพนักงานเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไปได้ตามที่เห็นสมควร เมื่อจำเลยเห็นว่าโจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นกับภริยาในการใช้บัตรโดยสารโดยไม่ชอบ จำเลยย่อมมีคำสั่งระงับใช้สิทธิบัตรโดยสารของโจทก์และภริยาได้ตามระเบียบ และเมื่อจำเลยไม่ได้ลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนสิทธิให้โจทก์มีสิทธิขอบัตรโดยสารให้แก่ภรรยาโจทก์ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 การใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงาน พ.ศ.2537 หากจำเลยไม่คืนสิทธิหรือให้สิทธิโจทก์ที่จะขอบัตรโดยสารพนักงานไม่ได้ ก็ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 3,000,000 บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2520 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยมีคำสั่งให้ระงับการใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของโจทก์ตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 โดยอ้างว่า “จากผลการสอบสวนของบริษัทปรากฏว่า ท่านได้มีส่วนรู้เห็นในพฤติกรรมของนางบุษบา ภรรยา ในกรณีที่ภรรยาท่านเป็นตัวการนำพาบุคคลเพื่อเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาโดยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งท่านในฐานะที่เป็นสามีควรตักเตือนและห้ามปรามไม่ให้ภรรยากระทำการดังกล่าว จึงให้ระงับการใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงานแก่ท่านและครอบครัวเป็นเวลา 5 ปี ส่วนนางบุษบาให้ระงับไว้เป็นการตลอดไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งนี้เป็นต้นไป” เหตุที่จำเลยออกคำสั่งดังกล่าวนั้น เพราะจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนของจำเลยพบว่า นางบุษบาภรรยาของโจทก์เป็นตัวการจัดหาหญิงซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานใช้แรงงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้วิธีการให้หญิงที่จัดหามาทำการจดทะเบียนสมรสซ้อนกับพนักงานของจำเลย และเปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้ตรงกับชื่อภรรยาและนามสกุลของพนักงานที่หญิงนั้นไปจดทะเบียนสมรสด้วย จากนั้นพนักงานและหญิงที่จดทะเบียนสมรสกับพนักงานจะเดินทางไปที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อขอวีซ่าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว เมื่อหญิงเหล่านั้นได้วีซ่าแล้วนางบุษบาจะให้ค่าตอบแทนแก่พนักงานของจำเลยคนละประมาณ 30,000 บาท ถึง 40,000 บาท และให้ค่าตอบแทนแก่พนักงานผู้ที่ชักชวนคนละประมาณ 5,000 บาท การกระทำส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในบ้านของโจทก์ จำเลยมีระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 การใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงาน พ.ศ.2537 ข้อ 24 ระบุว่า “บริษัทสงวนสิทธิที่จะยกเลิก เรียกคืนหรือระงับการใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงานเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไปได้ตามที่เห็นสมควร” และระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ.2537 และ พ.ศ.2550 ได้ระบุไว้ว่า โทษทางวินัยมี 6 ประเภท คือ 1. ตักเตือน 2. พักงาน 3. ตัดเงินเดือน 4. ให้ออก 5. ปลดออก 6. ไล่ออก เมื่อปี 2539 มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และในปี 2550 มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกร้องค่าเสียหายไม่เคลือบคลุม การที่จำเลยสั่งให้ระงับการใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของโจทก์และครอบครัว ไม่ใช่การลงโทษทางวินัย เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ถูกลงโทษทางวินัยโจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 และพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 การใช้บัตรโดยสาร หรือการยกเลิก เรียกคืน เป็นสิทธิของจำเลยที่จะกระทำได้ตามความเหมาะสมและสมควร จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลย โจทก์ทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2539 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 เกินกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ระงับการใช้บัตรโดยสารของโจทก์และครอบครัวเป็นเวลา 5 ปี และของภรรยาโจทก์ตลอดไปหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การระงับสิทธิการใช้บัตรโดยสารของโจทก์และภรรยาโจทก์เป็นการลงโทษทางวินัยอย่างหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยรับอุทธรณ์ของโจทก์และพิจารณาอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงเท่ากับว่าจำเลยยอมรับว่าการระงับสิทธิการใช้บัตรโดยสารเป็นการลงโทษทางวินัยและตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ก็หมายความรวมถึงบุคคลที่ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์โดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลเช่นเดียวกันกับการลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัย อันครอบคลุมไปถึงการถูกลงโทษอย่างอื่นด้วย โจทก์จึงย่อมได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว การให้ใช้สิทธิบัตรโดยสารของพนักงานเป็นไปตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 การใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงาน พ.ศ.2537 ซึ่งเป็นสภาพการจ้าง การที่จำเลยจะระงับการใช้สิทธินั้นได้ จึงต้องเป็นกรณีที่พนักงานกระทำความผิดตามข้อ 23 จำเลยไม่มีข้อเท็จจริงและเหตุตามข้อ 23 ที่จะระงับสิทธิการใช้บัตรโดยสารของโจทก์และภรรยาโจทก์ นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โทษทางวินัยของจำเลยตามที่กำหนดไว้ในระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ.2537 และ พ.ศ.2550 มี 6 ประเภท คือ ตักเตือน พักงาน ตัดเงินเดือน ให้ออก ปลดออก และไล่ออก ดังนั้น การยกเลิก เรียกคืน หรือระงับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นโทษทางวินัยของจำเลยและแม้การได้รับสิทธิในการใช้บัตรโดยสารของพนักงานจำเลยตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 การใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงาน พ.ศ.2537 จะถือได้ว่าเป็นสภาพการจ้างก็ตาม แต่การได้รับสิทธินั้นย่อมต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว เมื่อพิจารณาระเบียบข้อ 23 แล้ว ปรากฏว่าจำเลยมีข้อกำหนดห้ามมิให้พนักงานใช้สิทธิเรื่องบัตรโดยสารเพื่อประโยชน์ทางการค้า และ/หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ผู้ฝ่าฝืนระเบียบหรือมีการใช้บัตรโดยสารโดยมิชอบจะถูกลงโทษทางวินัยและถูกระงับการขอบัตรโดยสาร และข้อ 24 ระบุว่า จำเลยสงวนสิทธิ์ที่จะระงับการใช้บัตรโดยสารของพนักงานเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไปได้ตามที่เห็นสมควร ดังนั้น เมื่อจำเลยพิจารณาแล้ว เห็นว่าโจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นกับภรรยาของโจทก์ในการใช้บัตรโดยสารโดยไม่ชอบ แล้วมีคำสั่งระงับการใช้สิทธิบัตรโดยสารของโจทก์และภรรยาโจทก์โดยมิได้ลงโทษทางวินัยประการอื่นแก่โจทก์ คำสั่งระงับการใช้สิทธิบัตรโดยสารของโจทก์และภรรยาโจทก์ของจำเลย จึงเป็นการกระทำไปตามระเบียบโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้ลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอ้างพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน