คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6028/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ล.มิได้ยกที่ดินพิพาทส่วนของตนให้แก่โจทก์ เมื่อล.ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทส่วนของ ล. ย่อมตกเป็นมรดกแก่ทายาททุกคน แม้โจทก์จะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงก็ตาม แต่ที่ดินในส่วนของ ล.ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกทุกคน โจทก์จึงหาได้สิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ไม่จำเลยทั้งสามเป็นบุตรของ ล. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ล.ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนของ ล.ที่เป็นทรัพย์มรดกนั้น จึงมีสิทธิที่จะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสาม โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทส่วนของ ล. นั้น ล.ได้ยกให้แก่โจทก์ก่อนถึงแก่กรรม เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และ ล. แต่ล. ไม่ได้ยกให้แก่โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไปถึงว่าที่ดินพิพาทส่วนของ ล.เป็นมรดกของ ล.จึงเป็นการวินิจฉัยโดยผลของกฎหมาย เพราะถึงแม้จะไม่ได้วินิจฉัยไว้แต่โดยผลของกฎหมายแล้วเมื่อ ล.ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทส่วนของ ล. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ ล.นั่นเองจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 49 โดยโจทก์กับนางลอน มั่นหมาย มารดาโจทก์ได้รับมรดกมาจากนายเสร็ล มั่นหมาย บิดาโจทก์แล้วโจทก์กับนางลอนขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยใส่ชื่อร่วมกันหลังจากนั้นนางลอนได้ยกที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนที่โจทก์รับใช้ปรนนิบัติ แต่ยังไม่ทันจดทะเบียนให้ นางลอนก็ถึงแก่กรรมเสียก่อนโจทก์ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า20 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปไถนาในที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือเป็นเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ 2 งานทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าทำนาได้ หากโจทก์เข้าทำนาจะได้ข้าวเปลือกประมาณ 10 เกวียน คิดเป็นเงินประมาณ35,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 35,000 บาทจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นบุตรของนายเสร็ลกับนางลอน มั่นหมาย เมื่อปี 2468นายเสร็ลได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนางเมือง ยอดรัก ต่อมานายเสร็ลได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนเมษายน 2505 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ นางลอน โจทก์ จำเลยทั้งสามและพี่น้องได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิได้แบ่งทรัพย์มรดก ต่อมาปี 2512 นางลอนถึงแก่กรรมโจทก์ จำเลยทั้งสามและพี่น้องก็ยังคงร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมาจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2533 โจทก์ จำเลยทั้งสามและพี่น้องทุกคนได้ประชุมเพื่อตกลงแบ่งที่ดินพิพาท แต่โจทก์ไม่ยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสามและพี่น้องโดยอ้างว่าเป็นของโจทก์ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งสามจึงได้เข้าทำนาในที่ดินพิพาทเพราะมีสิทธิเข้าทำได้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม ที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งสามเข้าทำนาเป็นที่นาดอน ทำนาได้ข้าวเปลือกอย่างสูงไม่เกินปีละ 5 เกวียน คิดเป็นเงินปีละ 17,500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามรูปสี่เหลี่ยมสีแดงตามเอกสารหมาย จ.16ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 17,500 บาท เริ่มแต่ฤดูทำนาปี 2533เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามเป็นบุตรนางลอน มั่นหมาย ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์กับนางลอน ต่อมานางลอนถึงแก่กรรมในปี2513 โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทส่วนของตนให้แก่ผู้ใดมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า นางลอนยกที่ดินพิพาทส่วนของตนให้แก่โจทก์ก่อนถึงแก่กรรมหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์นำสืบว่านางลอนยกที่ดินพิพาทส่วนของตนให้แก่โจทก์นั้นเลื่อนลอยไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านางลอนยกที่ดินพิพาทส่วนของตนให้แก่โจทก์เมื่อนางลอนถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทส่วนของนางลอนย่อมตกเป็นมรดกแก่ทายาททุกคน แม้โจทก์จะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงก็ตาม แต่ที่ดินในส่วนของนางลอยถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกทุกคน โจทก์จึงหาได้สิทธิไม่ จำเลยทั้งสามเป็นบุตรของนางลอนจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนางลอนย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนของนางลอนที่เป็นทรัพย์มรดกนั้น จึงมีสิทธิที่จะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสาม ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนางลอนเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทส่วนของนางลอนนางลอนได้ยกให้แก่โจทก์ก่อนถึงแก่กรรมเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และนางลอนจริงตามฟ้องแต่ว่านางลอนไม่ได้ยกให้แก่โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยไปถึงว่าที่ดินพิพาทส่วนของนางลอนเป็นมรดกของนางลอนจึงเป็นการวินิจฉัยโดยผลของกฎหมาย เพราะถึงแม้จะไม่ได้วินิจฉัยไว้ แต่โดยผลของกฎหมายแล้วเมื่อนางลอนถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทส่วนของนางลอนย่อมเป็นทรัพย์มรดกของนางลอนนั่นเองจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share