คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6014/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์เช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้โดยที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปีแล้ว ทั้งยังรู้จักทำงานหาเงินแบ่งเบาภาระของบิดามารดา นับว่าเป็นผู้มีอายุและความรับผิดชอบพอที่จะมีและขับรถจักรยานยนต์ได้โดยปลอดภัย ตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ขวนขวายเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้ขับด้วยความจำเป็น มิใช่มีไว้เพื่อใช้ขับเที่ยวเตร่ไม่เป็นสาระคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็ขับรถจักรยานยนต์ออกไปหาซื้อสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ที่มาพักโรงแรมอันเป็นหน้าที่การงานที่จำเลยที่ 1 พึงกระทำ และคืนนั้นหากจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันอื่นออกไปกระทำการตามหน้าที่เช่นว่านั้น ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่มีโอกาสที่จะไประมัดระวังดูแลหรือทัดทาน ได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่บุตรโจทก์ทั้งสองขับ เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของบุตรโจทก์มิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพและเพื่อการศึกษาด้วยตนเองมานานถึง 2 ปี แล้ว ด้วยการไปรับจ้างเป็นพนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งนอกเวลาเรียน คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปทำงานตามปกติและขับรถจักรยานยนต์ไปหาซื้อยาให้แก่แขกที่มาพักโรงแรมตามหน้าที่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,657 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 28,657 บาท นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 1ได้ขับรถจักรยานยนต์คันที่ตนเช่าซื้อมาไปตามถนนด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายประสาน ภัทรจินดาวงศ์บุตรผู้เยาว์ของโจทก์ทั้งสองขับสวนทาง ทำให้นายประสานได้รับอันตรายแก่กายและถึงแก่ความตาย คดีคงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีภาระในการพิสูจน์นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีอายุ18-19 ปี และใช้เวลานอกการเรียนระหว่าง 16 ถึง 24 นาฬิกาไปทำงานรับจ้างเป็นพนักงานโรงแรมดำรงมานานประมาณ 2 ปีแล้วโรงแรมดังกล่าวอยู่ห่างบ้านจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประมาณ 9 กิโลเมตรนอกจากจะต้องเสียค่าโดยสารรถไปทำงานวันละ 24 บาท การไปมายังไม่สะดวกเพราะบ้านจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่เปลี่ยวรถยนต์โดยสารรับจ้างไม่ค่อยจะยอมรับส่ง จำเลยที่ 1 จึงเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คันที่ขับในคืนเกิดเหตุมาใช้เพื่อขับไปทำงานโดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันให้ และคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถจักรยานยนต์ไปหาซื้อยาให้แก่ผู้ที่มาพักในโรงแรมดำรง เป็นการให้การบริการแก่แขกของโรงแรมที่จำเลยที่ 1 ทำงานตามหน้าที่เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะยอมให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้โดยที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็มีอายุเกินกว่า 18 ปีแล้ว ทั้งยังรู้จักทำงานหาเงินแบ่งเบาภาระของบิดามารดา นับว่าเป็นผู้มีอายุและความรับผิดชอบพอที่จะมีและขับรถจักรยานยนต์ได้โดยปลอดภัย ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อหรือขับรถจักรยานยนต์โดยจำเลยที่1 ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่นั้น ข้อเท็จจริงก็ปรากฏจากถ้อยคำของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเองก็ยอมให้นายประสานผู้ตายซึ่งเป็นผู้เยาว์ขับรถจักรยานยนต์ได้โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่และไม่เคยว่ากล่าวห้ามปรามเช่นเดียวกัน ใช่ว่าจะเป็นแต่เฉพาะจำเลยที่ 2และที่ 3 เท่านั้นไม่ ตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ขวนขวายเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้ขับด้วยความจำเป็น มิใช่มีไว้เพื่อใช้ขับเที่ยวเตร่ไม่เป็นสาระ คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็ขับรถจักรยานยนต์ออกไปเพื่อหาซื้อสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ที่มาพักโรงแรมอันเป็นหน้าที่การงานที่จำเลยที่ 1 พึงต้องกระทำและคืนนั้นหากจำเลยที่ 1ขับรถจักรยานยนต์คันอื่นออกไปกระทำการตามหน้าที่เช่นว่านั้น ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมจะไม่มีโอกาสอย่างใดที่จะไประมัดระวังดูแลหรือทัดทานจำเลยที่ 1 ได้ เช่นนี้จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share