แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511มาตรา 28 บัญญัติไว้ว่า เมื่อตกลงเรื่องค่าทดแทนกันไม่ได้ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับ โดยอนุโลม แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497มิได้กำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่อนุญาโตตุลาการ ที่คู่กรณีตั้งขึ้นไม่สามารถชี้ขาดด้วยเสียงข้างมากได้ จึงต้องนำ ป.พ.พ.มาตรา 224 มาบังคับใช้ เมื่อจำเลยเข้าใช้ที่ดิน ของโจทก์ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันนั้นเป็นต้นไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเดินสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ 13 ไร่3 งาน 97.6 ตารางวา โจทก์ต้องรื้อถอนโรงเรือน ตัดฟันต้นยางพารากล้ายางพารา ต้นมะพร้าว และต้นไม้อื่น ๆ รวมค่าเสียหายทั้งหมด3,537,672 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยให้การว่า จำเลยเดินสายไฟฟ้าผ่านที่ดินโจทก์ 13 ไร่27.5 ตารางวา ค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับจริงเป็นเงิน 416,533.16 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 652,240.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าทดแทนแก่โจทก์รวม 1,142,366.66 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 มกราคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า วันที่จำเลยมีหนังสือไปถึงโจทก์นัดโจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยจะวางสายไฟฟ้าผ่านนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยยังไม่รู้จำนวนเนื้อที่ดินที่สายไฟฟ้าจะผ่านจะต้องตัดฟันต้นไม้กี่ต้น และรื้อถอนโรงเรือนมากน้อยเพียงใด จำเลยจึงไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์เท่าใด การที่จำเลยไม่จ่ายค่าทดแทนให้โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด อย่างไรก็ตามภายหลังที่มีการสำรวจทรัพย์สินของโจทก์ที่เสียหายแล้ว จำเลยเรียกให้โจทก์ไปรับค่าทดแทนการที่โจทก์ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าเป็นจำนวนที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราเท่าใด ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ว่าตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 28 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในเรื่องการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการซึ่งขณะเกิดข้อพิพาทเรื่องค่าทดแทนนี้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนในระหว่างที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าไว้คงมีแต่เรื่องดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าทดแทนให้โจทก์ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ตกลงกันได้หรือวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้วตามมาตรา 30 แต่คดีนี้โจทก์และจำเลยตกลงเรื่องค่าทดแทนกันไม่ได้และอนุญาโตตุลาการไม่สามารถชี้ขาดด้วยเสียงข้างมากได้ จึงไม่อาจนำกฎหมายมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 มาใช้บังคับซึ่งบัญญัติว่าหนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์เมื่อใด เห็นว่าจำเลยได้เข้าไปตัดฟันต้นไม้ในที่ดินของโจทก์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2527 ปรากฏตามบันทึกการตัดฟันและตรวจนับต้นไม้ เอกสารหมาย จ.4 จึงถือได้ว่าจำเลยได้เข้าไปใช้ที่ดินของโจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 587,377.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.