คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนยกบ้านพิพาทให้ผู้ร้องหลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำบ้านพิพาทไปเป็นประกันเงินกู้แก่โจทก์จากนั้นจำเลยที่ 2 ยังคงอยู่ในบ้านพิพาทตามเดิม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนยกบ้านให้ผู้ร้องเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนบ้านพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 กรณีเป็นการพิจารณาชั้นบังคับคดี ซึ่งเจตนารมณ์ของการบังคับคดียอมให้ว่ากล่าวเรื่องการโอนโดยไม่สุจริตได้ภายหลังการยึดทรัพย์แล้วศาลจึงมีอำนาจชี้ขาดเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลในคดีร้องขัดทรัพย์ได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์ไปดำเนินการฟ้องร้องขอให้ทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลก่อน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 75,000 บาทแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านเลขที่ 74 หมู่ 2 ตำบลไผ่ขวาง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ของจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า บ้านที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของจำเลยทั้งสอง ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โจทก์ให้การว่าเดิมบ้านที่โจทก์นำยึดเป็นของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนยกบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยเสน่หาและเป็นการสมคบกันโกงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นการกระทำที่มิชอบ ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้ร้องเป็นบุตรจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์จำนวน 150,000บาท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2527 และตกลงนำบ้านเลขที่ 74 และทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองมีอยู่ทั้งหมดให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันวันที่ 4 กันยายน 2527 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมยกบ้านให้ผู้ร้อง หลังจากที่มีการยกบ้านให้ผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวเป็นประจำ แต่ไป ๆ มา ๆจำเลยที่ 2 ยังได้ต่อเติมโดยปลูกนอกชานเพิ่มเติมด้วย มีปัญหาตามที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องมิได้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยทั้งสองโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนบ้านพิพาท ผู้ร้องยังคงเป็นเจ้าของบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะยึดบ้านของผู้ร้องเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนยกบ้านพิพาทให้ผู้ร้องภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองนำบ้านพิพาทไปเป็นประกันเงินกู้ให้โจทก์ ระยะเวลาห่างกันประมาณเดือนเศษ หลังจากโอนบ้านพิพาทให้ผู้ร้องแล้ว จำเลยที่ 2 ยังคงอยู่ตามเดิม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2จดทะเบียนยกบ้านให้ผู้ร้องเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีเท่านั้นเมื่อปรากฏว่านอกจากบ้านพิพาทแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์อย่างอื่นอีก การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 เสียเปรียบอันเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนรายนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 คดีนี้เป็นการพิจารณาชั้นบังคับคดีเจตนารมณ์ของการบังคับคดียอมให้ว่ากล่าวเรื่องดังกล่าวได้ภายหลังการยึดทรัพย์แล้ว ศาลจึงมีอำนาจชี้ขาดตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้ โดยมิพักต้องให้โจทก์ไปดำเนินการฟ้องร้องขอให้ทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเสียก่อน”
พิพากษายืน

Share