คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องอ้างสิทธิในคำร้องขอจัดการมรดกว่าร้องขอในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรม มิได้ร้องขอในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย เมื่อผู้คัดค้านอ้างในคำคัดค้านว่าพินัยกรรมดังกล่าวผู้ร้องทำปลอมขึ้นปัญหาว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ย่อมเป็นประเด็นที่จำต้องวินิจฉัยเพราะหากพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องทำปลอมขึ้นผู้ร้องย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(5) จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดก แม้ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาลชั้นต้นก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ถูกต้องได้ ท. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมข้อ 9 และข้อ 10 ตายก่อนเจ้ามรดก ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้จึงเป็นอันตกไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคสอง กล่าวคือต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ซึ่งรวมทั้งผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมหรือพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านมีความประพฤติดีไม่เคยทำร้ายหรือเป็นหนี้เจ้ามรดกดังคำพยานผู้ร้อง ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นเหตุไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรตั้งผู้ร้องและ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายชำนาญหรือเม่งเชี้ยว บุปผเวส และนางหยี่ บุปผเวส มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 12 คน นายชำนาญและนางหยี่ได้ถึงแก่กรรมแล้ว นางหยี่ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2504 ยกทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่ผู้ร้องและทายาท และระบุให้นายชลอ บุปผเวส เป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมบางส่วนนางหยี่ บุปผเวสได้จำหน่ายจ่ายโอนไปก่อนแล้วขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คงมีทรัพย์สินตามพินัยกรรมบางส่วนเหลืออยู่เพื่อแบ่งให้กับทายาทตามพินัยกรรมนายชลอในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินไปแล้วบางส่วนมีบางส่วนที่ยังมิได้จัดการแบ่งให้แก่ผู้ร้องและทายาทอื่น ผู้ร้องจึงยื่นฟ้องนายชลอต่อศาลจังหวัดชลบุรี ขอแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมในระหว่างการพิจารณาของศาลในคดีดังกล่าว นายชลอได้ยื่นคำร้องขอลาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกตามพินัยกรรม ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางหยี่เพื่อที่ผู้ร้องจะได้จัดการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามพินัยกรรมทายาทผู้มีส่วนได้เสียในพินัยกรรมยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ ผู้ร้องมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย
นายบุญเอก บุปผเวส ยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของนางหยี่ ในขณะที่บุคคลดังกล่าวมีชีวิตอยู่ ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2504 พินัยกรรมฉบับดังกล่าวผู้ร้องเห็นว่าตนได้รับทรัพย์มรดกน้อยไป จึงได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 5 ขึ้น อันเป็นการขัดกับเจตนาของเจ้ามรดกและเป็นการฉ้อฉลหลอกลวงเจ้ามรดก พินัยกรรมตามเอกสารที่ผู้ร้องทำขึ้นนี้จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นในการทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับจึงถูกตัดสิทธิมิให้รับมรดก ผู้ร้องจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและปรากฏว่าศาลจังหวัดชลบุรียังมิได้มีคำสั่งให้นายชลอพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ผู้คัดค้านมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายในอันที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลยกคำร้องของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก และมีคำสั่งหรือพิพากษาว่าผู้ร้องถูกตัดสิทธิมิให้รับมรดกของนางหยี่ บุปผเวส หรือหากศาลเห็นควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งให้นายบุญเอก บุปผเวสผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางหยี่ บุปผเวส ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน และมีคำสั่งตั้งนางบุญช่วย วิสุทธิมรรค ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ตามพินัยกรรมของนางหยี่ บุปผเวส ฉบับลงวันที่2 พฤษภาคม 2504 ให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายชำนาญ หรือเม่งเชี้ยว บุปผเวส กับนางหยี่ บุปผเวส มีบุตรด้วยกัน12 คน ซึ่งรวมทั้งนายชลอ บุปผเวส ผู้ร้องและผู้คัดค้านด้วย ปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 นายชำนาญตายเมื่อ 41 ปีมาแล้ว ส่วนนางหยี่ตายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2529 โดยนางหยี่ได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ยกทรัพย์สินให้ทายาท และตั้งให้นายชลอ เป็นผู้จัดการมรดก นายชลอจัดการมรดกยังไม่เสร็จก็ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกคดีมีปัญหาในข้อแรกว่า เดิมศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเฉพาะประเด็นว่า ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5ปลอมหรือไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องทำปลอมขึ้นมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ผู้ร้องจะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องอ้างสิทธิในคำร้องขอจัดการมรดกว่าร้องขอในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรมเพราะมีสิทธิได้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 มิได้ร้องขอในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย เมื่อผู้คัดค้านอ้างในคำคัดค้านว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องทำปลอมขึ้น ปัญหาว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ย่อมเป็นประเด็นที่จำต้องวินิจฉัย เพราะหากพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องทำปลอมขึ้นดังคำคัดค้านของผู้คัดค้าน ผู้ร้องย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(5)จึงไม่มีอำนาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก แม้ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาลชั้นต้นก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ถูกต้องได้
ปัญหาต่อไปมีว่า แม้พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ไม่ปลอมผู้คัดค้านมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของนางหยี่หรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่านายทวีปซึ่งมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ข้อ 9และข้อ 10 ตายก่อนนางหยี่ ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้จึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคสอง กล่าวคือ ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ซึ่งรวมทั้งผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านในฐานะทายาทโดยธรรมของนางหยี่จึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดก เห็นว่า การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมหรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยผู้ร้องนำสืบว่าผู้คัดค้านไม่มีอาชีพเป็นหลักฐาน มีหนี้สินมีภูมิลำเนาจังหวัดเชียงราย เคยทำร้ายและข่มขู่เอาสมบัติจากนางหยี่ส่วนผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้ร้องชอบทะเลาะวิวาทไม่โอบอ้อมอารีเอาแต่ใจตนเองและปฏิเสธว่าไม่เคยทำร้ายนางหยี่มารดา แต่แม้ผู้คัดค้านรับว่าเคยทะเลาะกับนางหยี่และเคยย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่จังหวัดเชียงรายผู้คัดค้านก็มีนางช้อย สุนทรส นางนิยม อภิบาลซึ่งเป็นพี่สาวของทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้าน เป็นพยานเบิกความรับรองว่าผู้คัดค้านมีความประพฤติดี ไม่เคยทำร้ายหรือเป็นหนี้สินนางหยี่ดั่งคำพยานผู้ร้อง และเคยมีการงานเป็นหลักฐาน ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นเหตุว่าไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางหยี่ร่วมกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share