คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6011/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ส่งสินค้าได้ส่งมอบกล่องสินค้าให้พนักงานของจำเลยผู้ขนส่งพร้อมใบกำกับสินค้าและใบรับขนทางอากาศ ซึ่งจำเลยส่งมาให้ผู้ส่งสินค้ากรอกข้อความ โดยได้กรอกประเภทของสินค้าว่าสินค้าจำพวกเครื่องเพชร พลอย ทอง 18 เค แสดงว่าจำเลยผู้ขนส่งได้รับบอกสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตนแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าสูญหายไปเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลย นั้น เป็นอุทธรณ์ที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่รับวินิจฉัย ทั้งข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยจึงใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันสินค้าประเภทอัญมณีให้แก่บริษัทอโดมา จำกัด 3 รายการ และบริษัทอโดมา จำกัด ว่าจ้างให้จำเลยทำการขนส่งสินค้าทั้ง 3 รายการจากกรุงเทพมหานครไปยังผู้รับสินค้าในต่างประเทศโดยสินค้าทั้งหมดบรรจุอยู่ในหีบห่อสภาพเรียบร้อย เมื่อจำเลยรับสินค้าจากบริษัทอโดมา จำกัด เรียบร้อยแล้ว และบริษัทอโดมา จำกัด ได้แจ้งราคาสินค้าให้แก่จำเลยทราบทางใบกำกับสินค้าพร้อมกับหีบห่อสินค้า จำเลยจึงได้ออกใบรับขนทางอากาศระหว่างประเทศให้แก่บริษัทอโดมา จำกัด จำเลยขนส่งสินค้าไปทางเครื่องบินให้แก่ผู้รับสินค้าทั้ง 3 รายการ แต่สินค้าทั้ง 3 รายการสูญหายไประหว่างขนส่งของจำเลย บริษัทอโดมา จำกัด เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยไม่ชดใช้ให้ บริษัทอโดมา จำกัด จึงเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้า โจทก์เห็นว่าสินค้าได้สูญหายจริงและกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองสินค้าดังกล่าวจึงได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทอโดมา จำกัด จำเลยต้องรับผิดในฐานะผู้ขนส่งสินค้า โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกร้องความเสียหายจากจำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมชดใช้ โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงิน 367,339.86 บาท นับจากวันที่โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 3,442 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 370,781.86 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 370,781.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 367,339.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่บริษัทอโดมา จำกัด ผู้ส่งสินค้า โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิ สินค้าพิพาทไม่ได้สูญหายในระหว่างการขนส่งของจำเลย ผู้ส่งสินค้าไม่ได้บอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบสินค้าแก่จำเลย ผู้ส่งสินค้าทราบว่าการระบุราคาในใบรับของทางอากาศที่พิพาทเพียงช่องเดียวคือ ระบุเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการบอกราคาที่แท้จริงของสินค้า ซึ่งผู้ส่งสินค้าจำเป็นต้องระบุในช่องหรือมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง โดยผู้ส่งสินค้าจำกัดความรับผิดของจำเลยในกรณีสินค้าเสียหายหรือสูญหายไว้ที่จำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัมหรือไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า สินค้าที่ผู้ส่งสินค้าส่งในคดีนี้ตามใบรับขนทางอากาศฉบับที่ 2 มีน้ำหนักเท่ากับ 0.5 กิโลกรัม และผู้ส่งสินค้าไม่ได้ระบุมูลค่าของเพื่อการขนส่ง ความรับผิดของจำเลยหากมีอยู่จริงจะจำกัดไว้โดยข้อตกลงชัดแจ้งไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับใบรับขนทางอากาศฉบับที่ 1 และฉบับที่ 3 ผู้ส่งสินค้าระบุราคาในช่อง DECLARED VALUE FOR CARRIAGE ไว้สูงกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐ ความรับผิดของจำเลยหากมีอยู่จริงจะจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบรับขนทางอากาศแต่ละฉบับ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 3,442 บาท คำแปลสำหรับเอกสารใบรับขนทางอากาศท้ายคำฟ้องหมายเลข 10, 11, 12 ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศแปลคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ และโจทก์ไม่ถ่ายเอกสารข้อจำกัดความรับผิดด้านหลังใบรับขนทางอากาศและไม่มีคำแปลภาษาไทยแนบมาด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 200 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันชำระค่าเสียหายจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริงให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นนั้นก่อนวันดังกล่าว หากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าจากบริษัทอโดมา จำกัด 3 รายการ คือรายการที่ 1 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 รับประกันภัยอัญมณี ทองคำ 18 เค จำนวน 7 ชิ้น ตามใบกำกับสินค้าเลขที่ 031/04 ขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรับประกันภัยไว้เป็นเงิน 1,354 ดอลลาร์สหรัฐ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 รายการที่ 2 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2547 รับประกันภัยอัญมณี ทองคำ 18 เค จำนวน 2 ชิ้น ตามใบกำกับสินค้าเลขที่ 048/04 ขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยรับประกันภัยไว้เป็นเงิน 2,018 ดอลลาร์สหรัฐ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 และรายการที่ 3 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 รับประกันภัยอัญมณี ทองคำ 18 เค จำนวน 3 คู่ และ 5 ชิ้น ตามใบกำกับสินค้าเลขที่ 055/04 ขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยรับประกันภัยไว้เป็นเงิน 5,855 ดอลลาร์สหรัฐ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 บริษัทอโดมา จำกัด ได้ขายสินค้ารายการที่ 1 ให้แก่บริษัทคริส คอร์เรีย คอลเล็คชั่น จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาคืออัญมณี จี้เพชร จำนวน 7 ชิ้น ในราคาซีไอเอฟ (ราคาสินค้ารวมค่าประกันภัยและค่าระวางพาหนะ) สหรัฐอเมริกา 1,354 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.6 สินค้ารายการที่ 2 ขายให้บริษัทโกลด์ชมิดโฮแฟคเกอร์ จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คือ แหวนเพชร สร้อยข้อมือ จำนวน 2 ชิ้น ในราคาซีไอเอฟเยอรมนี 2,018 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.7 สินค้ารายการที่ 3 ขายให้บริษัทเวอสเตอร์ไดมอนด์ จีเอ็มบีเอส จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คือ อัญมณีแหวนเพชร ต่างหูเพชร สร้อยคอเพชร จำนวน 3 คู่ 5 ชิ้น ในราคาซีไอเอฟเยอรมนี 5,855 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.8 และบริษัทอโดมา จำกัด ได้ว่าจ้างให้จำเลยทำการขนส่งสินค้าทั้ง 3 รายการจากรุงเทพมหานครเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งในต่างประเทศดังกล่าว โดยสินค้าบรรจุหีบห่ออยู่ในสภาพเรียบร้อย เมื่อจำเลยได้รับสินค้าจากบริษัทอโดมา จำกัด พร้อมกับใบกำกับสินค้า จำเลย จำเลยได้ออกใบรับขนทางอากาศให้บริษัทอโดมา จำกัด ไว้ จากนั้นจำเลยได้นำสินค้าขนส่งไปทางเครื่องบิน แต่ปรากฏว่าสินค้าทั้ง 3 รายการสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลย บริษัทอโดมา จำกัด จึงแจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยจะชดใช้เพียงบางส่วน บริษัทดังกล่าวจึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัย โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทดังกล่าวแล้วดังนี้ รายการที่ 1 เป็นเงิน 53,483 บาท เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 รายการที่ 2 เป็นเงิน 79,246.86 บาท เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2547 และรายการที่ 3 เป็นเงิน 234,610 บาท เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ตามใบรับเงินค่าสินไหมทดแทน
“มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า จำเลยผู้ขนส่งได้รับบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตนหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์มีนางสาวสุธารัตน์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทอโดมา จำกัด ผู้ขายและเป็นผู้ส่งสินค้าเป็นพยานยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นและเบิกความประกอบว่า พยานได้ส่งมอบกล่องสินค้าให้พนักงานของจำเลยพร้อมใบกำกับสินค้าและใบรับขนทางอากาศ ซึ่งจำเลยส่งมาให้บริษัทอโดมา จำกัด กรอกข้อความโดยได้กรอกประเภทของสินค้าในช่อง COMMODITY DESCRIPTION ว่า 18 K GOLD JEWELLERY ซึ่งหมายความว่าสินค้าจำพวกเครื่องเพชร พลอย ทอง 18 เค ดังนี้ แสดงว่าจำเลยผู้ขนส่งได้รับบอกสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตนแล้ว นอกจากนี้ ตามใบรับขนทางอากาศในช่อง TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE ซึ่งหมายความว่ารวมมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งยังระบุไว้ว่า 1,354 ดอลลาร์สหรัฐ และ 5,855 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ซึ่งแสดงว่าจำเลยผู้ขนส่งได้รับบอกราคาทั้ง 2 แห่ง ของรายการดังกล่าวไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตนด้วย จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในการที่สินค้าดังกล่าวซึ่งเป็นของมีค่าสูญหาย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปตามที่โจทก์อุทธรณ์มีว่าบริษัทอโดมา จำกัด ผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งที่ว่า ผู้ขนส่งจะรับผิดไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อการขนส่งหนึ่งครั้งหรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อสินค้าที่สูญหาย 1 กิโลกรัม แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า เว้นแต่ได้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้สูงกว่านั้น และได้ชำระค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น แต่สินค้าที่มีมูลค่าเป็นพิเศษรวมทั้งอัญมณี เพชร พลอย ทอง เงิน มีการจำกัดการสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐดังกล่าวหรือไม่ ในข้อนี้ จำเลยมีนายประพลซึ่งเป็นผู้จัดการแผนกให้บริการลูกค้าของจำเลยเป็นพยานยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นและเบิกความประกอบได้ความว่า…ปรากฏว่าฝ่ายผู้ส่งสินค้าได้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องที่ 9 ของใบรับขนทางอากาศซึ่งมีข้อความว่า การใช้ใบรับขนทางอากาศฉบับนี้เป็นการเข้าทำสัญญาตามเงื่อนไขด้านหลังใบรับขนทางอากาศ…และการจำกัดความรับผิดของเราสำหรับความเสียหาย สูญหายหรือล่าช้าจะปรากฏตามเงื่อนไขของสัญญาที่ได้อธิบายไว้ตามคำแปล โดยในข้อนี้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนี้แสดงว่า ผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามเงื่อนไขที่ปรากฏด้านหลังของใบรับขนทางอากาศดังกล่าว ประกอบกับนางสาวสุธารัตน์พยานโจทก์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านเจือสมกับพยานหลักฐานจำเลยว่า บริษัทอโดมา จำกัด เคยว่าจ้างจำเลยส่งออกสินค้า ก่อนหน้าคดีนี้ก็มีการใช้บริการของจำเลยและสินค้าก็สูญหายบ้าง ปัจจุบันได้ใช้บริการของจำเลยแห่งเดียว และถ้าส่งสินค้ากับจำเลยจะทำประกันกับบริษัทข้างนอกตลอด เพราะปกติจำเลยจะไม่ชำระให้เต็มมูลค่าความเสียหาย ด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ เป็นเงื่อนไขของสัญญาได้ระบุถึงข้อจำกัดความรับผิดไว้และตามเอกสารดังกล่าว ด้านหน้าในข้อ 9 ระบุว่าต้องผูกมัดตามเงื่อนไขด้านหลังใบรับขนทางอากาศตามคำแปล และจำเลยมีข้อจำกัดความรับผิดจึงต้องประกันภัยสินค้าไว้กับคนนอก ตามใบรับขนทางอากาศสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งมากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐ ความรับผิดคือ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น กรณีจึงรับฟังได้ว่าบริษัทอโดมา จำกัด ผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าสูญหายไปเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยนั้นเป็นอุทธรณ์ที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงไม่รับวินิจฉัย ทั้งข้อตกลงการจำกัดความรับผิดของจำเลยดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยดังโจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด ข้อตกลงการจำกัดความรับผิดของจำเลยดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่โจทก์อ้างมานั้น มีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เห็นว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า สินค้ารายแรกและรายการที่ 2 หนัก 0.5 กิโลกรัม จำเลยต้องรับผิดรายการละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรายการที่ 3 หนัก 1 กิโลกรัม จำเลยต้องรับผิด 100 ดอลลาร์สหรัฐ รวมจำเลยต้องรับผิดเป็นเงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐ นั้นยังไม่ถูกต้องเพราะตามข้อตกลงการจำกัดความรับผิดดังกล่าวได้ความว่าผู้ขนส่งจะรับผิดไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อการขนส่งหนึ่งครั้งหรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อสินค้าที่สูญหาย 1 กิโลกรัม แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า เว้นแต่ได้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้สูงกว่านั้นและได้ชำระค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น แต่สินค้าที่มีมูลค่าสูงเป็นพิเศษรวมทั้งอัญมณี เพชร พลอย ทอง เงิน มีการจำกัดการสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น สำหรับสินค้าที่สูญหายตามใบรับขนทางอากาศ ซึ่งได้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้เป็นเงิน 1,254 ดอลลาร์สหรัฐ และ 5,855 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยย่อมต้องรับผิดเป็นเงินรายการละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสินค้าที่สูญหายตามใบรับขนทางอากาศซึ่งไม่ได้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ แต่ได้ระบุว่ามีน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม จำเลยย่อมต้องรับผิดเป็นเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่มากกว่าคิดคำนวณจาก 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อสินค้าที่สูญหาย 1 กิโลกรัม รวมจำเลยต้องรับผิดเป็นเงิน 1,100 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ละรายการ คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 วันที่ 3 มิถุนายน 2547 และวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ตามลำดับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,100 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ 100 ดอลลาร์สหรัฐ และ 500 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 วันที่ 3 มิถุนายน 2547 และวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share