คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5953/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 76 วรรคแรก และมาตรา 77 ให้นายจ้างจะหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้ก็เฉพาะกรณีเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้เท่านั้น สำหรับกรณีหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้น จะหักได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้างโดยนายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะอีกด้วย ดังนั้น การห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่คู่สัญญายังคงมีสภาพเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่เท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไปก่อนแล้ว ทั้งมิได้ฟ้องแย้งขอหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยละเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้อ้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 19,666 บาท กับจ่ายค่าคอมมิชชั่น 14,605.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 167,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 29,999.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 กันยายน 2547 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หากโจทก์ไม่สามารถติดตามทวงถามให้จำเลยได้รับค่าโฆษณาหรือนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนตามอัตราโฆษณาจนครบถ้วนยังขาดจำนวนเท่าใด จำเลยมีสิทธิหักเงินค่าจ้างจากโจทก์เป็นการชำระค่าโฆษณาดังกล่าวโดยทยอยหักเป็นคราวๆ ไป เมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างมิได้จัดทำเป็นหนังสือและให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างลงลายมือชื่อให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 77 ทั้งโจทก์และจำเลยมิได้ทำสัญญาจ้างแรงงานไว้ระหว่างกันโดยมีข้อสัญญาในการหักเงินค่าจ้างแทนการชำระค่าโฆษณา โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลย เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคแรกบัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ…(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง (5)…” และมาตรา 77 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา 54 มาตรา 55 หรือการหักเงินตามมาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ” จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นเจตนารมณ์ได้ว่า การห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ไห้ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด อันจะทำให้รายได้จากการทำงานลดลง และลูกจ้างอาจหมดกำลังใจในการทำงานที่ไม่ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยนายจ้างจะหักได้ก็เฉพาะกรณีเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้เท่านั้นและสำหรับกรณีหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้น จะหักได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้างโดยนายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะอีกด้วย เมื่อพิเคราะห์เจตนารมณ์ของการห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดดังกล่าว ประกอบกับข้อที่ว่านายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า การห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่คู่สัญญายังคงมีสภาพเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่เท่านั้น คดีนี้ในขณะที่จำเลยฟ้องแย้ง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไปก่อนแล้ว ทั้งจำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน จึงนำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 และมาตรา 77 มาปรับใช้อ้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแต่เพียงว่า จำเลยได้รับค่าโฆษณารายบริษัททิมแสง 2000 จำกัด โดยได้รับมอบเครื่องฟอกอากาศ มูลค่า 100,000 บาท ครบถ้วนแล้ว และได้รับมอบน้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำอัดลมบรรจุขวดไว้จากบริษัททีทีซีน้ำดื่มสยาม จำกัด และบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด ไว้หลายครั้งแต่ยังไม่ครบถ้วน โดยมิได้ฟังข้อเท็จจริงมาให้ชัดเจนว่าน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำอัดลมบรรจุขวดที่บริษัททีทีซีน้ำดื่มสยาม จำกัด และบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด ส่งมอบให้จำเลยแล้วมีมูลค่าเท่าใด ยังค้างชำระอยู่อีกเท่าใด ซึ่งศาลฎีกาไม่มีอำนาจกระทำได้จึงต้องส่งสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังไม่ได้รับชำระค่าโฆษณาจากบริษัททีทีซีน้ำดื่มสยาม จำกัด และบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด รวมเป็นเงินเท่าใด แล้วพิพากษาในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share