แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายถูกทำร้ายโดยมีดโต้ มีบาดแผลถึง 7 แผล ต้องนอนรักษาตัวอยู่นานถึง 1 เดือน 19 วัน จึงพอทุเลาลุกนั่งได้ระหว่างนั้น ทำการงานอะไรไม่ได้เลย แผลที่ 1 คือกลางหลังกว้าง 5 ซ.ม.ยาว 8 ซ.ม. ทลุกลวงแพทย์ผู้รักษาว่า ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีหรือไม่ดีอาจถึงตายได้ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งอย่างไร ดังนี้ต้องถือว่าเป็นบาดแผลเข้าลักษณะที่ไม่สามารถประกอบการงานตามปกติได้เกินกว่า20 วัน เป็นบาดแผลสาหัสตามมาตรา256(8)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 254, 256
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดเพียงมาตรา 254 จำคุก 2 ปี
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า บาดแผลสาหัสตามมาตรา 256(8) ให้จำคุก 3 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว บาดแผลของผู้เสียหายตามรายงานชัณสูตรท้ายฟ้องมีดังนี้ แผลที่ 1 กลางหลังกว้าง 5 ซ.ม. ยาว 8 ซ.ม. ทะลุกลวง ฐานแผลเรียบ
แผลที่ 2 ท้ายทอย กว้าง 3 ซ.ม. ยาว 7.0 ซ.ม. ลึกถึงกระโหลกฐานแผลเรียบ
แผลที่ 3 ท้ายทอย กว้าง 3.5 ซ.ม. ยาว 8 ซ.ม. ลึกถึงกระโหลกฐานแผลเรียบ
แผลที่ 4 นิ้วชี้ซ้ายกว้าง 3 ซ.ม. ยาว 0.7 ซ.ม. ลึก 0.2 ซ.ม. ฐานแผลเรียบ
แผลที่ 5 นิ้วกลางซ้าย กว้าง 0.3 ซ.ม. ยาว 0.7 ซ.ม. ลึก 0.7 ซ.ม. ลึก 0.2 ซ.ม.ฐานแผลเรียบ
แผลที่ 6 นิ้วนางซ้าย กว้าง 0.3 ซ.ม. ยาว 0.7 ซ.ม. ลึก 0.2 ซ.ม. ฐานแผลเรียบ
แผลที่ 7 นิ้วก้อยซ้าย กว้าง 0.3 ซ.ม. ยาว 0.7 ซ.ม. ลึก 0.2 ซ.ม. ฐานแผลเรียบ
ทุกแผลถูกของแข็งมีคม รักษาประมาณ 30 วันหาย ผู้เสียหายว่าต้องนอนรักษาตัวอยู่นานถึง 1 เดือน 19 วัน จึงขอทุเลาลุกนั่งได้ สาธารณะสุขอำเภอ ผู้รักษาให้การว่าแผลที่ 1 ถ้ารักษาไม่ทันท่วงที หรือไม่ดีอาจถึงตายได้ จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งศาลชั้นต้นก็ว่ารักษาเดือนเศษ ทำการงานอะไรไม่ได้เลย ค่อนข้างรุนแรงมาก ดังนี้จึงต้องฟังว่าเข้าลักษณะที่ไม่สามารถประกอบการงานตามปกติได้เกินกว่า 20 วันแล้ว เป็นบาดแผลสาหัสตามมาตรา 256(8)
แต่เห็นว่าผู้เสียหายเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน จึงลดโทษให้ตามมาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือนตามมาตรา 256