คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่สามีละทิ้งภริยาไปได้กับหญิงอื่น หาทำให้ขาดจากการเป็นสามีภริยาไม่
สามีเอาสินเดิมของภริยาไปขายโดยไม่ได้รับความยินยอมของภริยานั้น ถ้าผู้ซื้อไม่รู้ว่าเป็นสินเดิมของภริยาก็ได้ทรัพย์เป็นสิทธิ ถ้ารู้ก็เป็นกรณีที่ซื้อโดยไม่สุจริต ภริยาฟ้องเรียกคืนได้
ภริยามีอำนาจฟ้องเรียกสินเดิมซึ่งสามีโอนขายโดยไมได้รับความยินยอมจากตนโดยไม่ต้องรับอนุญาตจากสามี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของจำเลยที่ ๑ แต่ได้อย่ากันแล้วโดยจำเลยที่ ๑ ได้ทิ้งโจทก์ไปมีภริยาใหม่ แล้วจำเลยที่ ๑ ได้เอาที่สวนอันเป็นสินเดิมของโจทก์ขายให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสัญญาซื้อขายและแก้ทะเบียนให้เป็นของโจทก์
จำเลยที่ ๑ รับว่า ที่สวนเป็นสินเดิมของโจทก์จริง แต่จำเลยมีสิทธิขายให้ เพราะเป็นสามีโจทก์
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้จำเลยที่ ๒ โดยโจทก์รู้เห็นในการกู้และการที่จำเลยที่ ๑ กู้ไปก็เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อจำเลยที่ ๒ ทวงหนี้ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงจึงตกลงยอมโอนที่สวนรายพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ การโอนได้ทำโดยสุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นภริยาจำเลยที่ ๑ ๆ ย่อมมีสิทธิจัดการสินบริคณห์
ศาลชั้นต้นตัดสินว่า สวนรายพิพาทเป็นสินเดิมของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมในสัญญาซื้อขายที่ที่พิพาท ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายให้ และแก้ทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ
ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดว่า ป.พ.พ.ม.๑๔๖๘ ให้อำนาจสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ สามีจึงมีอำนาจจำหน่ายได้ ข้อบัญญัติในมาตรา ๑๔๗๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบัญญัติภายในระหว่างสามีภริยา ซึ่งถ้าไม่ได้รับความยินยอมแล้วก็มีผลเพียงการหักใช้สินเดิมในกรณีอย่าตามมาตรา ๑๕๑๕ เท่านั้น จะนำไปลบล้างสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ซื้อทรัพย์นั้นโดยสุจริตไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ อย่าขาดกันแล้วเพราะจำเลยที่ ๑ ได้ทิ้งตนไปมีภริยาใหม่กับหญิงอื่นหาทำให้ขาดจากการเป็นภริยาสามีกันไม่ เมื่อฟังว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ยังเป็นภริยาสามีกันอยู่ โจทก์จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น ป.พ.พ.บรรพ ๕ หมวด ๔ กันว่าด้วยทรัพย์สินระ+บัญญัติไว้เป็นตอน ๆ คือการจัดการสินบริคณห์ตอนหนึ่ง การจำหน่ายสินบริคณห์อีกตอนหนึ่งมาตรา ๑๔๖๙ อันอยู่ในตอนว่าด้วยการจัดการสินบริคณห์นั้น หาคลุมถึงการที่ภริยาจะฟ้องคดีในเรื่องจำหน่ายสินบริคณห์ตามมาตรา ๑๔๗๓ ไม่ เพราะภริยามีสิทธิเช่นนั้นอยู่แล้วในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์ การที่กฎหมายบัญญัติห้ามสามีจำหน่ายสินเดิมของภริยานอกจากจะได้รับอนุญาตนั้นจะนำมาตรา ๑๔๖๙ มาบังคับไม่ได้ มิฉะนั้นมาตรา ๑๔๗๓ ก็จะไร้ผลและไม่ให้ความคุ้มครองแก่ภริยาแต่ประการใด เพราะสามีอาจไม่อนุญาตให้ภริยาฟ้องตน ส่วนมาตรา ๑๕๑๕ ที่ศาลอุทธรณ์อ้างเป็นเรื่องการชดใช้ทรัพยสินกันในเวลาขาดจากสามีภริยา จะเอามาแปลตัดสินธิภริยาซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้ตามมาตรา ๑๔๗๓ หาได้ไม่
อีกประการหนึ่งมาตรา ๓๘ ก็เป็นบทบัญญัติทั่วไป หาใช่บทฉะเพาะในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ดังเช่นมาตรา ๑๔๖๙ และ ๑๔๗๓ ไม่ จึงควรต้องแปลอำนาจฟ้องของภริยาตามมาตรา ๑๔๗๓ ให้เป็นข้อยกเว้นของมาตรา ๓๘ อนึ่งมาตรา ๓๘ เป็นแต่ห้ามการทำการผูกพันสินบริคณห์ แต่ในเรื่องนี้ภริยาฟ้องเพื่อให้ได้สินบริคณห์กลับคืนมามาตรา ๓๘ จึงคลุมถึงกรณีที่ภริยาฟ้องตามมาตรา ๑๔๗๓ ไม่ ภริยาจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี
แต่การที่จะชี้ขาดว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๒ มีสิทธิดีกว่ากันอย่างไรนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าถ้าจำเลยที่ ๒ ได้ซื้อไปโดยสุจริตคือไม่รู้ว่าเป็นสินเดิมของโจทก์ ซึ่งทำให้จำเลยที่ ๑ มีสิทธิขายแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็ย่อมมีสิทธิดีกว่าโจทก์ ถ้าจำเลยที่ ๒ รู้ว่าเป็นสินเดิมของโจทก์ก็มีสิทธิขอให้ทำลายการโอนได้ เพราะจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ใช้สิทธิโดยสุจริต ศาลชั้นต้นมิได้กะประเด็นให้สืบในข้อนี้ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาในประเด็นดังกล่าว แล้ววินิจฉัยชี้ขาดตามข้อกฎหมายที่ศาลฎีกาได้วางไว้

Share