คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 103/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผ. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อ จึงมีสิทธิเอาประกันภัยรถยนต์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างขับรถยนต์ไปส่งคนงานของจำเลยที่ 2นายจ้างตามที่ต่าง ๆ ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กลับสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามเส้นทางการทำงานของจำเลยที่ 2ได้ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายโดยประมาท ถือได้ว่าเกิดเหตุขณะกระทำการในทางการของจำเลยที่ 2 แม้ในระหว่างทางจำเลยที่ 1 จะแวะทำธุระส่วนตัวบ้าง ก็ไม่ทำให้การนำรถยนต์เข้าเก็บที่สำนักงานของจำเลยที่ 2 พ้นจากการกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน9ย-0931 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสาวผาสุข เลาหประสิทธิพรในวงเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 4ย-1791กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน9ย-0931 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงิน85,180 บาท โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าซ่อมรถไปแล้วโจทก์จึงอยู่ในฐานะรับช่วงสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกคืนจากจำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน9ย-0931 กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ของนางสาวผาสุข เลาหประสิทธิพรนางสาวผาสุข จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่โจทก์จะรับช่วงสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 89,971 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 85,180 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่า นางสาวผาสุข ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่เอาประกันภัยมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวสัญญาประกันภัยจะผูกพันคู่กรณีหรือไม่นั้น ฎีกาของจำเลยที่ 2ไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งวินิจฉัยว่านางสาวผาสุขเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่เอาประกันภัย ข้อเท็จจริงต้องฟังว่านางสาวผาสุข เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว นางสาวผาสุขจึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยต่อผู้ให้เช่าซื้อ มีสิทธิเอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ได้ สัญญาประกันภัยจึงผูกพันคู่กรณี เมื่อเกิดภยันตรายขึ้นแก่รถยนต์ที่เอาประกันภัยโจทก์ผู้รับประกันภัยย่อมต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันและเมื่อได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาต่อไปจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการที่จ้างของจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีนายเกรียงศักดิ์ ชัยประทุม กับ ร้อยตำรวจโทไพบูลย์ คงกิตติโสภีเบิกความเป็นพยานว่า นายแผง ซึ่งทำงานอยู่กับจำเลยที่ 2 และนายรุ่งเรือง โรจนัย ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปส่งคนงานของจำเลยที่ 2 ตามที่ต่าง ๆเกิดเหตุขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กลับสำนักงานของจำเลยที่ 2ตามเส้นทางการทำงานของจำเลยที่ 2 จึงถือได้ว่าเกิดเหตุขณะกระทำการในทางการของจำเลยที่ 2 แม้ในระหว่างทางจำเลยที่ 1 จะได้แวะทำธุระส่วนตัวบ้างก็ไม่ทำให้การนำรถยนต์เข้าเก็บที่สำนักงานของจำเลยที่ 2 พ้นจากการกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share