แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจ และมีบุคคล 2 คนลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจนั้น แม้มิได้มีข้อความไว้ด้วยว่ารับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้มอบอำนาจ ก็นับว่าเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือนั้นด้วย
(อ้างฏีกาที่ 521/2496) ผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์จะขอนำสืบพยานบุคคลว่า ได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้วก็ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่ โดยในหนังสือสัญญาเช่าไม่มีข้อความเช่นว่านั้นเลย หาได้ไม่เพราะเป็นการขอสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง ม.94
ย่อยาว
ได้ความว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องตามใบมอบอำนาจ สัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว ทั้งโจทก์ก็ได้ให้ทนายบอกกล่าวเลิกการเช่าให้จำเลยออกไปจากตึกที่เช่าแล้วด้วย และจำเลยค้างค่าเช่าเดือนสุดท้าย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากตึกพิพาทของโจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเช่าเดือนธันวาคม ๒๔๙๘ ที่ค้าง ๒,๐๐๐ บาทกับค่าเสียหายเดือนละ ๖,๑๖๖ บาทตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากตึกพิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องค่าเสียหายเป็นว่าให้จำเลยเสียค่าเสียหายให้โจทก์เพียงเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท นอกนั้นเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฏีกา ศฎ. พิพากษายืนตามศอ. เกี่ยวกับปัญหาข้อ กม.ในเรื่องพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ศฎ.วินิจฉัยว่า นายประกอบและนายโชติศักดิ์ได้มาเบิกความว่านางเหล่าสีได้พิมพ์ลายมือในเอกสารหมาย๒ (หนังสือมอบอำนาจ) ต่อหน้าเขา แม้นายประกอบและนายโชติศักดิ์จะได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานโดยมิได้มีข้อความไว้ด้วยว่า รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางเหล่าสี ก็นับว่าเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือนั้นด้วย ตามแบบอย่างฏีกาที่ ๕๒๑/๒๔๙๖ ส่วนฏีกาของจำเลยที่ว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องให้จำเลยนำสืบพยานบุคคลประกอบข้อต่อสู้ว่าได้มีข้อตกลงกันได้ว่า เมื่อหมดสัญญาเช่าก็ทำสัญญาเช่ากันใหม่ดังที่เคยปฏิบัติกันมานั้น ศฎ.เห็นว่า ในหนังสือสัญญาเช่าหามีข้อความเช่นนี้ไม่ จึงเป็นการขอสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง ม.๙๔